ITO Thailand Hygiene Blog

Sep 11 2023

แหล่งอาหารใหม่ใต้ท้องทะเล

            แหล่งอาหารใหม่ที่มีความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและตอบโจทย์การขาดแคลนทรัพยากรกำลังฮิตอินเทรนด์! มาทำความรู้จักกับแหล่งอาหารใหม่จากใต้ท้องทะเล อย่างสาหร่ายทะเลและแมงกะพรุนกันเถอะ

            ในปัจจุบัน ภาวะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อนปรากฏการณ์เรือนกระจก การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร รวมไปถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนทรัพยากร และ เกิดเทรนด์ในการหาแหล่งอาหารใหม่ ๆ ที่มีความยั่งยืนมากขึ้น  เกิดคาร์บอนฟุตปริ้น อันเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อนน้อยลงในการผลิตอาหาร เพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม หรือใช้ทรัพยากรน้อยลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงแหล่งของโปรตีนจากการปศุสัตว์ ที่ต้องใช้ทรัพยากรอาหารสัตว์ พื้นที่ทำฟาร์ม รวมไปถึงการจัดการของเสียจากสัตว์ มาเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือก ที่มีความยั่งยืนมากขึ้น ใช้ทรัพยากรน้อยลง เช่น โปรตีนจากแมลง โปรตีนจากพืช และการเพาะเลี้ยงเซลล์โปรตีน เป็นต้น ซึ่งสามารถติดตามเพิ่มเติมได้จาก Hygiene blog ของอิโตะ(ไทยแลนด์)

            สำหรับในวันนี้ เราขอแนะนำให้รู้จักแหล่งอาหารแหล่งใหม่จากท้องทะเล ที่กำลังมาแรงและเป็นความหวังใหม่ในการผลิตโปรตีนให้หล่อเลี้ยงประชากรโลกให้เพียงพอ โดยจุดแข็งของโปรตีนจากท้องทะเลคือ สามารถแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนทรัพยากรน้ำจืดในการผลิตอาหาร เนื่องจากสามารถผลิตโปรตีนได้ในน้ำทะเล รวมไปถึงการใช้พื้นที่ในทะเลและมหาสมุทรให้เกิดประโยชน์ในการสร้างแหล่งอาหารให้มนุษย์อีกด้วย

แมงกะพรุน Jellyfish

            อาหารจากท้องทะเลแหล่งหนึ่ง ที่เรารู้จักกันดี แต่อาจจะมองข้ามไป คือ แมงกะพรุน โดยปกติ เรามักมองแมงกะพรุนในฐานะสัตว์มีพิษ หรือกับแกล้ม อาหารจานเคียงเล็ก ๆ แต่ในความจริงแล้วนั้น ปัจจุบันอาหารจากแมงกะพรุนได้รับความสนใจมากขึ้น สาเหตุหนึ่งเกิดจากในปัจจุบัน แมงกะพรุนมีปริมาณมากขึ้นเนื่องจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ[1] รวมถึงมีรายงาน[2]ว่า แมงกะพรุนเป็นแหล่งอาหารที่ดี โดยมีน้ำและโปรตีนเป็นองค์ประกอบหลัก แคลอรี่ต่ำเนื่องจากมีน้ำในโครงสร้างมาก โปรตีนที่พบมากที่สุดคือคอลลาเจน มีไขมันและน้ำตาลต่ำมาก และเป็นแหล่งของแร่ธาตุหลายชนิด

            ในปี 2011-2015 ผลิตภัณฑ์อาหารจากแมงกะพรุนทั่วโลก มีปริมาณถึง 10,000-17,000 ตัน/ปี [3] แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของความต้องการในตลาด  อย่างไรก็ตาม แมงกะพรุนบางชนิดเท่านั้นที่สามารถรับประทานได้ (มีประมาณ 35 สายพันธุ์) ในขณะที่บางชนิดมีพิษ รวมไปถึงข้อจำกัดด้านเนื้อสัมผัสที่ค่อนข้างมีความเฉพาะตัว นอกจากการใช้แมงกะพรุนเป็นแหล่งอาหารของมนุษย์แล้วโดยตรงแล้ว แมงกะพรุนยังถูกใช้เป็นอาหารสัตว์เช่น อาหารไก่ สุกร รวมถึงในการเลี้ยงปลาด้วย

สาหร่ายทะเล Seaweed & Algae

            ในปัจจุบันสาหร่าย ทั้งสาหร่ายขนาดใหญ่ (Macroalgae) และสาหร่ายขนาดจิ๋ว (Microalgae) ได้ถูกผูกโยงเข้ากับความยั่งยืนในหลาย ๆ ด้าน ทั้งเป็นแหล่งของการสร้างออกซิเจน กำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ การบำบัดน้ำเสีย เป็นแหล่งของพลังงานสะอาด (bio-ethanol)[4] เช่นเดียวกับเป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ โดยไม่จำเป็นต้องใช้น้ำจืด และมีปริมาณสารอาหารที่ผลิตได้ต่อพื้นที่ สูงกว่าการปลูกพืชหรือทำปศุสัตว์

            สาหร่ายมีคุณค่าทางโภชนาการสูงดังนี้ [1]

            •แร่ธาตุ: ธาตุเหล็ก แคลเซียม ไอโอดีน เซเลเนียม และโพแทสเซียม

            •วิตามิน: วิตามินเอ บี12 และวิตามินซี

            •กรดไขมันโอเมก้า3 (ไขมันดี)

            •ใยอาหาร

            •โปรตีน

            •สารฟังก์ชัน ด้านการลดการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ

            นอกจากนี้ การใช้สาหร่ายประกอบอาหาร ยังสามารถทำได้ ทั้งการรับประทานสาหร่ายโดยตรงเป็นอาหาร ในรูปอาหารเสริม/สารสกัด เช่น สารสกัดโปรตีน หรือใช้สาหร่ายบางชนิดเป็นตัวช่วยในการปรับสมบัติของอาหาร (additive) เช่น ทำฟิล์ม เปลี่ยนเนื้อสัมผัส ทำให้เกิดเจล เพิ่มความข้นหนืด ช่วยอุ้มน้ำ [5] สารให้สี สารต้านอนุมูลอิสระ สารแต่งกลิ่นรส [6] รวมถึงใช้เป็นบรรจุภัณฑ์แบบย่อยสลายได้ [1] ได้อีกด้วย

            เช่นเดียวกับแมงกะพรุน สาหร่ายก็ถูกใช้เป็นอาหารสัตว์ด้วยเช่นกัน โดยมีการใช้สาหร่ายเป็นแหล่งของโปรตีนในอาหารปลา มีรายงาน[6] ว่า ช่วยให้ปลาสามารถโตได้ดีขึ้นและลดการเกิดโรคในปลาได้อีกด้วย เนื่องจากไขมันดีที่พบในสาหร่ายช่วยในการปกป้องโรคในปลาได้

            โดยสรุปแล้ว แหล่งอาหารจากท้องทะเลนับว่ามีความน่าสนใจและสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ต่อยอดเพื่อความยั่งยืนด้านอาหารในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ยังต้องมีความใส่ใจด้านความปลอดภัยของอาหารชนิดใหม่ ๆ ในอนาคตด้วย หากมีโอกาส คราวหน้าจะมาเล่าถึงมุมมองของ FAO จาก UN ว่าได้ให้ความคิดเห็นด้านความปลอดภัยของแหล่งอาหารใหม่ ๆ เหล่านี้ไว้ประเด็นใดบ้าง และควรคำนึงถึงจุดใดบ้างในการนำวัตถุดิบเหล่านี้มาใช้ผลิตอาหาร รอติดตามชมกันนะคะ

เอกสารอ้างอิง

1.2022. Thinking about the future of food safety – A foresight report.Rome. https://doi.org/10.4060/cb8667en.

2.Hsieh, Y. P., Leong, F. M., & Rudloe, J. (2001). Jellyfish as food. In Jellyfish Blooms: Ecological and Societal Importance: Proceedings of the International Conference on Jellyfish Blooms, held in Gulf Shores, Alabama, 12–14 January 2000(pp. 11-17). Springer Netherlands.

3.Duarte, I. M., Marques, S. C., Leandro, S. M., & Calado, R. (2022). An overview of jellyfish aquaculture: for food, feed, pharma and fun. Reviews in Aquaculture14(1), 265-287.

4.https://www.bio100com/wwt/algae-farming/

5.Afonso, N. C., Catarino, M. D., Silva, A. M., & Cardoso, S. M. (2019). Brown macroalgae as valuable food ingredients. Antioxidants8(9), 365.

6.Brien, R. O., Hayes, M., Sheldrake, G., Tiwari, B., & Walsh, P. (2022). Macroalgal Proteins: A Review. Foods11(4), 571.

Related Post