ITO Thailand Hygiene Blog

Jul 25 2022

ผลกระทบของโรคระบาดต่อวงการอุตสาหกรรมอาหาร

ความปลอดภัยของอาหารและบรรจุภัณฑ์

            โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งเกิดการระบาดครั้งแรกช่วงปลายปี 2562 และในเวลาต่อมาได้ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สิน มีการเปลี่ยนแปลงต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น มาตรการรักษาระยะห่าง หรือจำกัดปริมาณคนเพื่อควบคุมไม่ให้มีการเบียดเสียดมากเกิดไป ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดนั้น คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หลีกเลี่ยงการออกไปรับประทานอาหารตามร้านอาหารที่มีความเสี่ยงในการพบปะกับผู้คนจำนวนมาก และมักใช้การสั่งอาหารผ่าน Application แทน แต่ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลว่าเชื้อไวรัส สามารถติดต่อผ่านทางอาหาร หรือแม้แต่บรรจุภัณฑ์ได้

            ความเป็นจริงแล้วเนื่องจากโรคนี้ เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ และทางองค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) ยังไม่พบหลักฐานว่าเชื้อไวรัส สามารถติดต่อผ่านทางการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีเชื้อได้ (Anelich et al., 2020)  อีกทั้งในกระเพาะอาหารมีภาวะเป็นกรดซึ่งเป็นสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อไวรัส (Food Standards Australia & New Zealand, 2021) จึงสามารถสรุปได้ว่าการปนเปื้อนของเขื้อไวรัส ในอาหารนั้นมีความเสี่ยงที่ต่ำมากนั่นเอง และถือว่าไม่เป็นโรคที่เกิดจากอาหารเป็นสื่อ (Foodborne disease) เหมือนแบคทีเรียก่อโรคในอาหารชนิดอื่นๆ เช่น Clostridium botulinum, Staphylococcus aureus, Salmonella เป็นต้น

            อย่างไรก็ตามการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสอาหาร เช่น โต๊ะ ช้อน ส้อม นั่นมีความสำคัญเนื่องจากอาจปนเปื้อนแบคทีเรียก่อโรค หรือไวรัสต่างๆ และถึงแม้ว่าเชื้อไวรัส จะไม่ติดต่อผ่านทางอาหารหรือทางบรรจุภัณฑ์ก็ตาม แต่ยังสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อน และการสัมผัสบริเวณดวงตา ปาก หรือจมูกนั่นเอง

            เราต่างทราบดีว่าปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยจากการบริโภคอาหาร นั้นคือ การปนเปื้อนข้าม และอาหารเป็นพิษ ตามบทความก่อนหน้านี้เราจึงควรเตรียมอาหารให้ถูกต้องตามหลักการเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้บริโภคนั่นเอง รวมถึงใช้ความระมัดระวังในการใช้สารฆ่าเชื้อพื้นผิว เนื่องจากสารเคมีบางชนิดนั้นไม่ปลอดภัยต่อการใช้งานกับอาหาร และในปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีแสง UV-C  เพื่อลดจุลินทรีย์ในขณะที่ยังสามารถรักษาคุณภาพของอาหารไว้ได้อีกด้วย

ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหาร

            เนื่องด้วยเมื่อเกิดโรคระบาดนั้น ทำให้มาตรการการปิดพรมแดนของแต่ละประเทศมีความเข้มงวดมาก รวมถึงการเดินทางของคนงานในภาคเกษตรกรรมนั้นมีความยากลำบากมากขึ้น (Aday & Aday, 2020) ทำให้การขนส่งสินค้าอาหารมีความซับซ้อนและใช้เวลานานกว่าเดิม ซึ่งสินค้าประเภทนี้สามารถเน่าสลายได้และส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพและความปลอดภัย ทางผู้ส่งออกจึงจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการลดปริมาณ และความถี่ในการส่งออก ส่งผลให้อุปทาน (supply) ของสินค้าลดลงในขณะที่อุปสงค์ (demand) นั้นมีเท่าเดิม จึงทำให้แนวโน้มราคาของสินค้าเหล่านี้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อให้เกิดวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร

วิกฤตความมั่นคงทางอาหาร

            ความมั่นคงทางอาหาร (Food security) หมายถึง ความสามารถในการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีโภชนาการที่ดี ทั้งทางกายภาพและเชิงเศรษฐกิจ ตามที่ต้องการและความพึงพอใจ เพื่อชีวิตที่ดีและสุขภาพที่แข็งแรง (มหันต์เชิดชูวงศ์, 2020)

            มีหลักฐานว่าโรคระบาดนั้นมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร (Mardones et al., 2020) มากกว่าผลกระทบต่อสุขภาพเสียอีก เนื่องจากผลของการปิดพรมแดนระหว่างประเทศ ทำให้การเข้าถึงอาหารเป็นไปได้ยากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มประชากรรายได้ต่ำหรือผู้ที่ขาดรายได้จากการปิดตัวของธุรกิจ (Bisoffi et al., 2021) ตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดการระบาดขึ้น รัฐบาลของหลายประเทศได้เลือกใช้มาตรการปิดโรงเรียนเพื่อป้องกันการระบาดในกลุ่มเด็ก สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาหรือครอบครัวที่ยากจนแล้ว อาหารโรงเรียนอาจจะเป็นอาหารมื้อเดียวที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน (Bisoffi et al., 2021) และการตัดอาหารมื้อนี้ออกไป ย่อมส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กๆ นั่นเอง ซึ่งรายละเอียดในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food security) รวมถึงระบบอาหารยั่งยืน (Food sustainability) นั้น ทางเราจะมาพูดถึงในโอกาสถัดไป

แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร

            ภายหลังจากหลายๆ โรงงานต้องหยุดพักการผลิตเนื่องจากวิกฤตโรคระบาดแล้ว  ในปัจจุบันโรงงานอาหารเหล่านั้นได้มีการนำระบบอัตโนมัติ (Automation) มาใช้มากขึ้นในโรงงานอาหาร ซึ่งมีประโยชน์มากมาย เช่น ลดการปนเปื้อนข้าม ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ลดข้อผิดพลาดจากแรงงานคน ลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุ ลดต้นทุนค่าแรง และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น

ทาง ITO Thailand ขอสนับสนุนการใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อปรับปรุงคุณภาพของสายการผลิต โดยเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ระบบตรวจสอบน้ำหนัก หุ่นยนต์บรรจุหีบห่อ ระบบการจัดเรียงสินค้าบนพาเลท เป็นต้น รวมถึงบริการให้คำปรึกษากับผู้ปฏิบัติงาน กระตุ้นความตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขอนามัย การจัดการด้านสุขอนามัยอย่างครบวงจร

เอกสารอ้างอิง

1.Aday, S., & Aday, M. S. (2020). Impact of COVID-19 on the food supply chain. Food Quality and Safety, 4(4), 167–180. https://doi.org/10.1093/fqsafe/fyaa024

2.Anelich, L. E. C. M., Lues, R., Farber, J. M., & Parreira, V. R. (2020). SARS-CoV-2 and Risk to Food Safety. Frontiers in Nutrition, 7. https://doi.org/10.3389/fnut.2020.580551

3.Bisoffi, S., Ahrné, L., Aschemann-Witzel, J., Báldi, A., Cuhls, K., DeClerck, F., Duncan, J., Hansen, H. O., Hudson, R. L., Kohl, J., Ruiz, B., Siebielec, G., Treyer, S., & Brunori, G. (2021). COVID-19 and Sustainable Food Systems: What Should We Learn Before the Next Emergency. Frontiers in Sustainable Food Systems, 5. https://doi.org/10.3389/fsufs.2021.650987

4.Food Standards Australia & New Zealand. (2021, September). Transmission of COVID-19 by food and food packaging. Retrieved May 15, 2022, from https://www.foodstandards.gov.au/consumer/safety/Pages/Can-COVID-19-be-transmitted-by-food-or-food-packaging.aspx

5.Mardones, F. O., Rich, K. M., Boden, L. A., Moreno-Switt, A. I., Caipo, M. L., Zimin-Veselkoff, N., Alateeqi, A.M., & Baltenweck, I. (2020). The COVID-19 Pandemic and Global Food Security. Frontiers in Veterinary Science, 7. https://doi.org/10.3389/fvets.2020.578508

6.World Health Organization. (n.d.-a). Coronavirus. Retrieved May 15, 2022, from https://www.who.int/health-topics/coronavirus  World Health Organization. (n.d.). WHO Coronavirus (COVID-19) Dashboard. Retrieved May 15, 2022, from https://covid19.who.int

7.มหันต์เชิดชูวงศ์, ส. (2020, June 3). ทำไมเราต้องสู้เพื่อ ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ ในเวลาวิกฤตและหลังจากนี้. Greenery. Retrieved May 16, 2022, from https://www.greenery.org/articles/insight-foodsecurity/

 

Related Post