ITO Thailand Hygiene Blog
อาหารปลอดภัยในโลกยุคใหม่
ในปี 2020 USFDA ได้จัดทำ Blueprint หรือแนวทางเกี่ยวกับอาหารปลอดภัยในโลกยุคใหม่ ที่จะมีความทันสมัยมากขึ้นเพื่อรับกับโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งยังมีการพึ่งพาเทคโนโลยี อุปกรณ์ต่าง ๆ รวมไปถึงแนวคิดใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับเทรนด์สำหรับโลกปัจจุบันที่กำลังก้าวไปสู่อนาคต จะมีอะไรบ้างนั้น สามารถติดตามได้ที่นี่
ปัจจุบัน โลกของอุตสาหกรรมอาหารมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งการเข้ามาของแหล่งวัตถุดิบใหม่ ๆ กระบวนการผลิตใหม่ๆ เทคโนโลยีต่าง ๆ รวมไปถึงสิ่งที่เข้ามากระตุ้นให้อุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งพฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นไปอีกอย่างโรคระบาด (อ่านเพิ่มเติมเรื่องผลกระทบของโรคระบาดต่ออุตสาหกรรมอาหาร ที่นี่) เช่น การซื้อขายอาหารบนแพล็ตฟอร์มออนไลน์ เดลิเวอรี เป็นต้น ทำให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยด้านอาหาร ต้องมีการปรับตัวให้เร็วตามไปด้วย เพื่อรองรับกับปรากฏการณ์ใหม่ๆที่เกิดขึ้นในสังคม โดยมุ่งหวังในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยของอาหารให้มีความสมาร์ทขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความซับซ้อนน้อยลง สามารถออกคำสั่งเพื่อจัดการกับกรณีการปนเปื้อนได้เร็วมากขึ้นรวมไปถึงการจัดการกับต้นเหตุของปัญหาอาหารปนเปื้อนด้วย
4 หัวใจสำคัญของอาหารปลอดภัยในโลกยุคใหม่
New era of smarter food safety blueprint ประกอบด้วย 4 หัวใจสำคัญ ดังนี้
•เทคโนโลยีในการสอบย้อนข้อมูล Tech-enabled traceability
เป็นการใช้เทคโนโลยี เพื่อใช้สอบย้อนข้อมูลของผลิตภัณฑ์อาหารไปยังต้นทางได้อย่างรวดเร็ว เพื่อระงับเหตุเกี่ยวกับกรณีการปนเปื้อนอันตรายในอาหารให้ทันท่วงที โดยทาง USFDA มุ่งหวังเป้าหมายในการสามารถใช้เวลาหลัก “นาที” ในการตรวจสอบข้อมูลเพื่อสอบย้อนไปยังต้นทาง เพื่อออกคำสั่งในการจัดการอาหารที่ต้องสงสัยว่าเกิดการปนเปื้อนได้อย่างรวดเร็ว เช่นการ เรียกคืน (recall) สินค้า หรือการออกประกาศเตือน เป็นต้น เพื่อลดการสูญเสีย ทั้งด้านชีวิตและสุขภาพ การสูญเสียมูลค่าผลิตภัณฑ์ และความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค
•อุปกรณ์และวิธีการเพื่อป้องกันการเกิดอันตรายในอาหาร Smarter tools and approaches for prevention and outbreak response
นอกจากการระงับเหตุที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดแล้ว การป้องกันการเกิดเหตุด้วยเทคโนโลยี ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมอาหารยุคใหม่ โดยการใช้เทคโนโลยีช่วยเก็บข้อมูลเป็นคลังข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำไปวิเคราะห์หาแนวโน้ม ต้นเหตุ หรือทำนายโอกาสการเกิดอันตรายต่าง ๆ ให้แม่นยำมากขึ้น และสามารถป้องกันปัญหาอันตรายทางอาหารก่อนจะเกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ ในการทำให้การเก็บข้อมูลมีประสิทธิภาพ จะต้องมีการสร้างมาตรฐานการเก็บข้อมูล และสัญญาในการเก็บข้อมูลเพื่อจุดประสงค์ในการป้องกันอันตรายจากอาหาร เพื่อป้องกันการนำข้อมูลเฉพาะของภาคเอกชนไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดเครือข่ายข้อมูลที่เข้มแข็งและน่าเชื่อถือ
นอกจากนี้แล้ว เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามาช่วยในการเก็บข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น เทคโนโลยีเซนเซอร์ ในการวัดสภาพของสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อคุณภาพหรือความปลอดภัยของอาหาร (เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ฯลฯ) หรือตรวจวัดสารเคมีจำเพาะที่สัมพันธ์กับความปลอดภัยในอาหาร ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมอาหารยุคใหม่ (สามารถอ่านเพิ่มเติมเรื่องเทคโนโลยีการตรวจติดตามคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ที่นี่)
ส่วนสุดท้ายคือ เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว จะทำการวิเคราะห์อันตรายอย่างไรเพื่อให้เกิดความแม่นยำและมีประสิทธิภาพ สำหรับในส่วนนี้ การให้ความสำคัญกับระบบเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น Machine learning, artificial intelligence เข้ามามีบทบาทอย่างมาก รวมถึงการรายงานผลในรูปแบบออนไลน์และตามเวลาจริง (real time) ด้วย
•โมเดลธุรกิจอาหารในโลคยุคใหม่ New business models and retails modernization
ในโลกยุคปัจจุบัน ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น รวมทั้งธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็น วัตถุดิบใหม่ ๆ เช่น โปรตีนจากแมลง โปรตีนจากการเพาะเลี้ยง สารฟังก์ชันสุขภาพต่าง ๆ, กระบวนการผลิตใหม่ ๆ (เช่น การเอนแคปซูเลชันสารฟังก์ชันเพื่อให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการฆ่าเชื้อด้วยแสง เป็นต้น) รวมไปถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ เดลิเวอรี่ และพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้เกิดเงื่อนไขใหม่ ๆ ในการบริโภคอาหาร ที่ต้องมีการควบคุมจัดการให้อาหารของประชาชนมีความปลอดภัย โดยระบบการควบคุมนี้ ต้องมีการพัฒนาให้รวดเร็วก้าวตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีให้ทันด้วย รวมถึงการให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยอาหารต่อผู้ประกอบการรายย่อยที่เกิดขึ้นในโมเดลธุรกิจอาหารยุคใหม่ ก็มีความท้าทายมากขึ้นเช่นกัน
เทคโนโลยีตรวจติดตาม (monitoring tools) ต่าง ๆ จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยให้การทำงานของผู้ตรวจสอบง่ายขึ้น เช่น ระบบครัวแบบสมาร์ท (smart kitchen) ที่มีการติดตามอุณหภูมิและเวลาอัตโนมัติเพื่อทำนายคุณภาพของอาหาร หรือระบบเซนเซอร์ต่าง ๆ เป็นต้น รวมไปถึงระบบ AI ที่เข้ามาช่วยตรวจสอบพฤติกรรมของมนุษย์เพื่อลดการปนเปื้อนด้วย (อ่านเพิ่มเติม)
•Food safety culture
ในส่วนสุดท้ายนี้ แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายก็ตาม สุดท้ายแล้ว ส่วนที่ยังคงมีความสำคัญเรื่องอาหารปลอดภัยก็คือมนุษย์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการปรับทัศนคติ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในอาหาร ทั้งในเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค ความปลอดภัยและสวัสดิภาพขององตัวผู้ผลิตอาหารเอง รวมไปถึงการให้ความรู้ผู้บริโภคในการประกอบอาหารสำหรับการรับประทานเองด้วย
เอกสารอ้างอิง
1.https://www.fda.gov/media/139868/download
Related Post
-
เกษตรกรรมในเมือง
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดความกังวลในหมู่เกษตรกร อุตสาหกรรม และทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึง carbon footprint จากการขนส่งกำลังทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงมีความตระหนักในการจัดหาอาหารท้องถิ่นเพื่อลดระยะทางในการขนส่งอาหารให้ใกล้กับเขตเมืองมากขึ้น วันนี้ เราจะมาพูดคุยเกี่ยวกับคำจำกัดความของเกษตรกรรมในเมือง โดยแนะนำเกษตรกรรมในเมืองสี่ประเภทหลัก ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และกรณีศึกษาความสำเร็จในการนำเกษตรกรรมในเมืองมาใช้
-
ไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อุปทานอาหาร
พลาสติกส่วนใหญ่ที่ผลิตทั่วโลกถูกใช้ในการบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม เมื่อเวลาผ่านไป พลาสติกจะเกิดการย่อยสลายและแตกออกเป็นอนุภาคขนาดเล็กที่เรียกว่าไมโครพลาสติก ในปี 2016 คาดว่า 60% ของพลาสติกทั้งหมด (322 ล้านตัน) เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียว เช่น ขวดน้ำแบบใช้ครั้งเดียว ภาชนะสำหรับนำกลับบ้าน กระป๋องอาหาร และแผ่นถนอมอาหาร ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการผลิตไมโครพลาสติก วันนี้เราจะมาพูดถึงคำจำกัดความของไมโครพลาสติก การปนเปื้อนในห่วงโซ่อุปทานอาหาร ผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และการป้องกันการปนเปื้อนในห่วงโซ่อุปทานอาหาร
-
Gastrophysics: ตอน ผลของสีต่อความรู้สึกของมนุษย์
วิทยาศาสตร์เพื่อความชอบทางประสาทสัมผัส หลักการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถบอกคุณได้ ว่าอะไรทำให้อาหารมื้อนี้ของคุณน่าประทับใจขนาดนี้
-
วัฒนธรรมความปลอดภัยด้านอาหาร
วัฒนธรรมความปลอดภัยด้านอาหารมีบทบาทสำคัญในการปกป้องชื่อเสียงของบริษัท รับรองความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน และมอบประสบการณ์ที่ปลอดภัยให้กับลูกค้า
-
ประเด็นความปลอดภัยของอาหารแหล่งใหม่ๆ
อาหารแหล่งใหม่ที่เป็นเทรนด์มาแรง ทั้งโปรตีนจากพืช โปรตีนจากแมลง และแหล่งอื่น ๆ มีประเด็นความปลอดภัยอะไรที่ควรรู้บ้าง?
-
มาตรฐานสมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร
ระบบการจัดการความปลอดภัยด้านอาหารมีบทบาทสำคัญในการสร้างและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพสูงแก่ผู้บริโภค เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานอาหารทั่วโลกมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ธุรกิจอาหารจึงต้องใช้ระบบที่มีประสิทธิภาพโดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัย คุณภาพ และการปฏิบัติตามมาตรฐานอุตสาหกรรม ระบบการจัดการความปลอดภัยด้านอาหารประกอบด้วยชุดขั้นตอน กระบวนการ และการควบคุมที่ออกแบบมาเพื่อระบุ ป้องกัน และจัดการอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตและจัดหาอาหาร แนวทางเชิงรุกนี้ไม่เพียงแต่ปกป้องสุขภาพของผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังปกป้องชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของบริษัทอาหารในตลาดที่มีการแข่งขันสูงขึ้นอีกด้วย