ITO Thailand Hygiene Blog

May 15 2023

Robots & automations in food industry

            ในปัจจุบัน ปัญหาในอุตสาหกรรมอาหารหลายปัญหา สามารถแก้ไขได้ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ หนึ่งในนั้นคือการนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร ในวันนี้เราจึงขอนำเสนอปัญหาบางส่วนที่สามารถใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาช่วยได้

ปัญหาประสิทธิภาพในการผลิต

            หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสามารถช่วยเพิ่มความเร็วในการผลิตได้ ทำให้ปริมาณผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตต่อวันมีปริมาณมากขึ้น รวมถึงเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพดีมากขึ้นด้วย เช่น การชั่งเนื้อสัตว์รวมหลาย ๆ ชิ้น เพื่อให้ได้ปริมาณที่กำหนดข้างบรรจุภัณฑ์ หากใช้ระบบชั่งรวมอัตโนมัติ จะสามารถเพิ่มความเร็วในการชั่งชิ้นอาหาร และสามารถคำนวณได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับน้ำหนักที่กำหนดมากกว่า ทำให้สามารถลดปริมาณน้ำหนักส่วนที่ชั่งเกินไปในแต่ละถุงได้ หรือในกรณีที่ต้องการเคลื่อนย้ายวัตถุ (เช่น วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ กล่อง ฯลฯ) การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะสามารถช่วยจัดเรียงและเคลื่อนย้ายวัตถุเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและมีความแม่นยำ

            นอกจากนี้ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พื้นที่ให้กับบริเวณผลิตให้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้นด้วย เช่น ในบางกระบวนการผลิตที่มีพื้นที่จำกัด และไม่สามารถวางไลน์ผลิตเพิ่มเติมได้ การเพิ่มหุ่นยนต์ในบริเวณคอขวดของสายการผลิต (เช่น บริเวณเรียงผลิตภัณฑ์ขึ้นพาเลต) จะสามารถช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตได้มากขึ้น หรือในกรณีที่ห้องเย็น/ห้องแช่แข็งมีพื้นที่จำกัด รวมถึงจำกัดพื้นที่ในการสร้างห้องเย็น/ห้องแช่แข็งแห่งใหม่ การติดตั้งระบบ Mobile rack จะสามารถเพิ่มพื้นที่ในการเก็บสินค้าภายในห้องเย็น/ห้องแช่แข็งเดิมได้มากขึ้น รวมถึงสามารถติดตั้งระบบตรวจนับสินค้าและหาตำแหน่งของสินค้าภายในคลังสินค้าโดยอัตโนมัติได้อีกด้วย

ปัญหาความผิดพลาดในกระบวนการผลิต

            หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมีความแม่นยำสูงและสามารถลดปัญหาความผิดพลาดในกระบวนการผลิต ที่เกิดจากปัจจัยของพนักงาน เช่น สุขภาพ ความเหนื่อยล้า ความใจลอย ความรีบที่จะทำผลงานในปริมาณมาก หรือพนักงานไม่เพียงพอ เป็นต้น การใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยตรวจสอบความถูกต้องของคุณภาพและความปลอดภัย เช่น ระบบ OCR เซนเซอร์ต่าง ๆ กล้องจับภาพนิ่งและวีดีโอ (อ่านเพิ่มเติม: การใช้เอไอในอุตสาหกรรมอาหาร) จะทำให้สามารถลดผลิตภัณฑ์ที่ผิดพลาด ไปจนถึงสามารถหาต้นเหตุของปัญหาความผิดพลาดได้เร็วมากยิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อความยั่งยืนของกระบวนการผลิตเนื่องจากสามารถลดขยะจากกระบวนการผลิตได้

สวัสดิภาพของพนักงาน

            ในบางส่วนของกระบวนการผลิต กระทบต่อสุขภาพและสวัสดิภาพของพนักงาน เช่น บริเวณที่มีเสียงดัง กระบวนการที่ต้องใช้สารเคมีอันตราย (อาทิ สารที่มีความเสี่ยงต่อการก่อมะเร็ง สารที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ กรดหรือด่างรุนแรงที่มีฤทธิ์กัดกร่อน เป็นต้น) ตลอดจนบางกระบวนการผลิตที่ต้องทำงานกับของมีคม เช่น การใช้มีดตัดแต่งหรือชำแหละชิ้นส่วนอาหาร หากพนักงานเหนื่อยล้า อาจมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุได้ง่าย หรือในส่วนของการยกกล่องบรรจุภัณฑ์ที่มีน้ำหนักมาก ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพและอาการบาดเจ็บหลังของพนักงานได้เช่นกัน นอกจากนี้ในสภาวะการทำงานที่เป็นกระบวนการผลิตเปียก มีความชื้นสูง อาจทำให้พนักงานเสี่ยงต่อโรคน้ำกัดเท้า หรือในสภาวะกระบวนการผลิตและเก็บรักษาที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ ก็ส่งผลต่อสวัสดิภาพของพนักงานเช่นเดียวกัน เช่น กระบวนการผลิตที่ใช้ไอน้ำหรืออุณหภูมิสูง อาจเสี่ยงต่อุบัติเหตุน้ำร้อนหรือไอน้ำลวก ส่วนในสภาวะห้องเย็นหรือห้องแช่แข็ง หากพนักงานต้องทำงานเป็นระยะเวลานานก็เป็นอันตรายเช่นกัน ดังนั้น การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาช่วยในกระบวนการผลิตหรือบริเวณที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ จะสามารถลดอันตรายของพนักงานได้ หรือช่วยให้พนักงานมีสวัสดิภาพในการทำงานที่ดีมากยิ่งขึ้นได้

ปัญหาการปนเปื้อน

            ความปลอดภัยของอาหารเป็นหัวใจหลักของการผลิตอาหารในทุกยุคทุกสมัย การนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตที่ต้องมีการสัมผัสกับอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโซนอาหารที่มีความเสี่ยงสูง (อ่านเพิ่มเติม: การแบ่งโซนพื้นที่การผลิตตามความเสี่ยง) จะสามารถลดการปนเปื้อนที่มีมนุษย์เป็นพาหะได้ เช่น เส้นผม เส้นด้าย เครื่องประดับ สิ่งสกปรก รวมไปถึงจุลินทรีย์จากร่างกาายมนุษย์ (อ่านเพิ่มเติม:การปนเปื้อนที่เกิดจากมนุษย์)โดยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต้องมีการออกแบบที่รองรับสุขลักษณะที่ดี ใช้วัสดุที่ปลอดภัย สามารถสัมผ้สกับอาหารได้ ไม่กัดกร่อน ปนเปื้อนลงสู่อาหาร มีซอกมุมน้อย และสามารถทำความสะอาดและฆ่าเชื้อได้ตามความเหมาะสม

 

6 ข้อควรรู้ ก่อนเริ่มโปรเจคหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

            หากต้องการเริ่มนำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์เข้ามาในองค์กร ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ?

            ท่านสามารถติดต่อเข้ามาคุยกับทีมของบริษัท อิโตะ (ไทยแลนด์) ที่นี่ โดยเตรียมข้อมูลรายละเอียดเพียง 6 ข้อ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

            1.Process กระบวนการผลิตที่ต้องการใช้หุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติ คือกระบวนการอะไร ต้องการให้ระบบทำอะไร เช่น เจาะชิ้นงาน หยิบ วาง เรียง เชื่อมโลหะ ชั่งน้ำหนัก ฯลฯ เป็นต้น

            2.Product ลักษณะชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์เป็นแบบใด เช่น ชิ้นอาหาร (แตกหักง่ายหรือไม่ ความชื้นเป็นแบบใด) หรือเป็น ถุง กระป๋อง กล่อง ฯลฯ

            3.Target เป้าหมายความคาดหวังเทียบกับปัจจุบัน เช่น ต้องการเพิ่มความเร็วในการผลิต ลดจำนวนพนักงาน ลดปริมาณของเสีย ฯลฯ

            4.Area พื้นที่ในการวางระบบหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติในบริเวณไลน์ผลิต

            5.Cost งบประมาณในโปรเจค เพื่อใช้คำนวณจุดคุ้มทุน

            6.Others ความต้องการอื่น ๆ ที่มีความเฉพาะเจาะจง เช่น ปฏิบัติงานในอุณหภูมิสูง/ต่ำกว่าปกติ, ไม่เกิดประกายไฟ, วัสดุเกรดสัมผัสอาหาร, มาตรฐานต่าง ๆ เป็นต้น

            เมื่อทางอิโตะ (ไทยแลนด์) ได้รับโจทย์เหล่านี้แล้ว จะสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความเฉพาะเจาะจงต่อความต้องการ รวมถึง Design simulation เพื่อดูความเป็นไปได้ในรูปแบบภาพจำลอง 3 มิติก่อนการสร้างจริงตามความต้องการของท่าน

Related Post