ITO Thailand Hygiene Blog

Feb 14 2023

4 ด้านความเสียหาย หากผลิตภัณฑ์อาหารของท่านไม่ปลอดภัย (Part 2)

3.การถูกดำเนินการทางกฏหมาย

            ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ประเทศไทย ได้ระบุว่า หากอาหาร(รวมไปถึงภาชนะบรรจุ) มีการปนเปื้อน ไม่บริสุทธิ์ มีการปลอมปน ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถูกสุขอนามัย หรือน่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ผู้ผลิตอาหารนั้นอาจถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตในการผลิตอาหารได้

            นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ได้ระบุโทษปรับเงินหรือจำคุก เช่น หากผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่ระบุไว้ในราชกิจจานุเบกษา เช่น ส่วนผสม วัตถุเจือปนอาหาร การตรวจวัดและการวิเคราะห์ อาจถูกโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท (มาตรา 47), กรณีภาชนะบรรจุไม่เป็นไปตามที่กำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 48) เป็นต้น โดยสรุปเบื้องต้นดังตารางด้านล่างนี้ และท่านสามารถอ่านข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

ตารางที่ 1 สรุปบทกำหนดโทษของพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522[1]

4.การถูกเรียกคืน/ถอนคืนผลิตภัณฑ์ Product recall/ withdrawal

            นอกจากการดำเนินคดีแล้ว อาหารที่ไม่ปลอดภัยจะต้องมีการเรียกคืนหรือถอนคืนออกจากตลาด เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับผู้บริโภค โดยความแตกต่างของการเรียกคืน (Food recall) และการถอนคืน (Withdrawal) คือ การเรียกคืนอาหาร เป็นการนำอาหารที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพออกจากการขายทันที โดยผู้ผลิต/นำเข้าต้องเป็นผู้เรียกคืนและแจ้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนการถอนคืน เป็นการนำผลิตภัณฑ์อาหารที่ยังไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่อาจมีความเสี่ยง เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน, ฉลากผิดปกติ หรือกรณีรอตรวจสอบความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพเพิ่มเติม [2]

            เมื่อเกิดกรณีปัญหาเรื่องอาหารปลอดภัย ผู้ผลิตอาหารในกลุ่มเดียวกันหรือใกล้เคียง ควรพิจารณากระบวนการผลิตและความเสี่ยงของตนเองเพิ่มเติม ว่ามีความเสี่ยงกรณีเดียวกับที่เกิดปัญหาหรือไม่ และสามารถวางมาตรการเพื่อป้องกันการปนเปื้อนอย่างไรได้บ้าง เพื่อป้องกันปัญหาและเป็นการยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยขององค์กรให้อัพเดทสม่ำเสมอ

            สำหรับข่าวสารการเรียกคืนสินค้า ทางสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย ได้จัดทำประชาสัมพันธ์เรื่องการเรียกคืนผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ปลอดภัยต่าง ๆ ท่านสามารถติดตามข่าวสารดังกล่าวได้ที่นี่

Related Post