ITO Thailand Hygiene Blog

Mar 21 2022

การปนเปื้อนในอาหาร

            วันนี้เราจะมาไขข้อข้อเท็จจริงว่าสารเคลือบกระทะเทฟล่อนก่อให้เกิดมะเร็งจริงหรือไม่ และภาชนะโลหะในเครื่องปรุงก่อให้เกิดอันตรายจริงหรือไม่ รวมถึงแนะนำวิธีการป้องกันอาหารเป็นพิษอย่างถูกต้อง เนื่องจากสารเคมี สารปนเปื้อน และจุลินทรีย์ต่างๆ สามารถเข้าสู่ร่างกายเราได้อย่างง่ายดาย ผ่านกิจวัตรประจำวันที่เราไม่อาจรู้ตัวได้ เช่น จากการเคลือบผิว กระทะ หม้อ เครื่องมือต่างๆ และภาชนะ จากอาหารเป็นพิษ รวมถึงจากสารเคมีที่ตกค้างในวัตถุดิบ เราจะไปหาคำตอบกันว่าสารเหล่านี้ส่งมีผลกระทบอะไรกับร่างกายของเราบ้าง และเราควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อ หลีกเลี่ยงการรับสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย

            ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราคือ สารเคลือบผิวกระทะ โดยปัจจุบันกระทะเทฟล่อนได้รับความนิยมมาก เนื่องจากมีข้อดีมากมาย เช่น

1.อาหารไม่ติดกระทะ ทำให้ลดการใช้น้ำมัน ส่งผลดีต่อสุขภาพ

2.ลดรอยขีดข่วนจากเครื่องครัวและอุปกรณ์ต่างๆ

3.กระจายความร้อนอย่างทั่วถึง ใช้งานง่าย

4.ดูแลรักษา ล้างทำความสะอาดง่าย

            ในระหว่างกระบวนการผลิตจะมีการเคลือบผิวด้วยวัสดุเทฟล่อน โดยมีการใช้กรดเพอร์ฟลูออโรออกตาโนอิก (PFOA: Perfluorooctanoic Acid) ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีอันตราย เนื่องจากผลการทดลองกับสัตว์ในห้องปฏิบัติการพบว่า สามารถเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งตับ อัณฑะ เต้านม และตับอ่อนได้  (1) 

            อย่างไรก็ตาม กรดเพอร์ฟลูออโรออกตาโนอิกมักจะถูกเผาไหม้ไปอย่างสมบูรณ์ในระหว่างกระบวนการผลิต และไม่เหลืออยู่ในปริมาณมากพอที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ได้ ซึ่งจากการทดสอบให้ความร้อนสูงกับกระทะเทฟล่อนยี่ห้อต่างๆ ไม่พบการก่อให้เกิดสารพิษเป็นอย่างใด  (2)  มีเพียงข้อควรระวังเรื่องควันที่เกิดจากการให้ความร้อนสูงเป็นเวลานาน ทำให้เกิดอาการป่วย ซึ่งมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ได้อย่างชั่วคราวในมนุษย์ ซึ่งควันเหล่านี้ไม่มีกรดเพอร์ฟลูออโรออกตาโนอิก เป็นอย่างใดเนื่องจากสลายไปแล้วในระหว่างกระบวนการผลิตจึงไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่อาจมีผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงบางชนิด โดยเฉพาะนก เช่น นกหงส์หยก นกแก้ว จึงมีข้อแนะนำให้เปิดหน้าต่างระบายอากาศหรือเครื่องดูดควันระหว่างทำอาหารทุกครั้ง เราจึงสามารถสรุปได้ว่า กระทะเทฟล่อนที่ลอกเมื่อผ่านการใช้งานไปเป็นระยะเวลานาน ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์ เพียงแต่จะเป็นการปนเปื้อนทางกายภาพหากปะปนไปในอาหาร ดูไม่น่ารับประทาน และทำให้อาหารติดกระทะ ใช้งานและดูแลรักษายากขึ้นนั่นเอง

            เราสามารถเห็นอีกตัวอย่างที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ได้แก่ เวลาที่ไปรับประทานอาหารตามร้านอาหาร ควรสังเกตว่าเครื่องปรุงต่างๆ เช่น น้ำส้มสายชู น้ำปลา บรรจุในภาชนะวัสดุใด รวมถึงช้อนที่ใช้ตักทำจากวัสดุใด เนื่องจากเครื่องปรุงดังกล่าว ทำปฏิกิริยากับวัสดุประเภทโลหะ (รวมถึงสเตนเลส) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสี เช่น เกิดสีดำหรือน้ำตาลขึ้นบริเวณผิวสัมผัส และมีฤทธิ์กัดกร่อนหากแช่ไว้เป็นเวลานาน ทำให้โลหะหนักลงไปปนเปื้อนในอาหารได้

            ดังนั้นเราจึงควรระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงหากพบเห็นการใช้ถ้วยบรรจุหรือช้อนโลหะ เนื่องจากอาจเกิดการสะสมในร่างกายได้หากบริโภคเป็นระยะเวลานาน และเราสามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการใช้ภาชนะจากวัสดุประเภทอื่น เช่น แก้วหรือเซรามิค เป็นต้น

            สุดท้ายแล้วอาหารเป็นพิษ มักเกิดจากการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีจุลินทรีย์ก่อโรคในอาหาร เช่น Salmonella, Campylobacter หรือ E. coli ปนเปื้อนเข้าไป (3)  ซึ่งเชื้อเหล่านี้มักจะเจริญได้ดี เมื่อเราจัดการอาหารไม่ถูกต้องตามหลักสุขอนามัย เช่น ทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องมากกว่า 4 ชั่วโมงขึ้นไป เนื่องจากในอาหารมีสารอาหาร และแร่ธาตุต่างๆ ครบถ้วนต่อการเจริญของจุลินทรีย์ก่อโรค อาการทั่วไปมักจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ปวดหัว ปวดท้อง ท้องเสีย และสามารถหายเองได้ โดยดื่มน้ำในปริมาณมาก และพักผ่อนให้เพียงพอ แต่ในบางกลุ่มอาจพบอาการรุนแรงได้ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ เป็นต้น

            โดยอาหารที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่อาหารที่ไม่ผ่านความร้อน เช่น สลัด ซูชิ ปลาดิบ และอาหารที่ใช้มือในการบริโภค เช่น แซนวิช แฮมเบอร์เกอร์ เป็นต้น อีกทั้งยังรวมถึงหลักการเตรียมอาหาร และการปฏิบัติที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งเราสามารถป้องกันได้ เช่น

1.การเลือกซื้อวัตถุดิบที่ดี อยู่ในสภาพสมบูรณ์ รวมถึงบรรจุุภัณฑ์ไม่ฉีกขาด ระบุวันหมดอายุชัดเจน

2.การล้างมือด้วยน้ำอุ่น สบู่ เช็ดให้แห้ง และใช้แอลกอฮอล์ในการฆ่าเชื้อ ก่อนเตรียมอาหารหรือรับประทาน

3.การไม่ใช้เขียงแผ่นเดียวกันในการหั่นของดิบและของสุก เนื่องจากอาจเกิดการปนเปื้อนข้าม (cross-contamination) รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ตะเกียบคู่เดิมคีบของดิบและของสุกในอาหารประเภทปิ้งย่าง หมูกระทะ จิ้มจุ่ม เป็นต้น

4.ปรุงอาหารให้สุกทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการทานอาหารสุกๆ ดิบๆ

            ทางอิโตะไทยแลนด์ สนับสนุนสังคมอาหารถูกสุขลักษณะ สะอาด ปลอดภัย และขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา ปรับปรุง และผลิตอาหารให้ถูกหลักอนามัย เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค ด้วยบริการเสนอมาตรการจัดการสุขอนามัยให้สอดรับกับหน้างานของโรงงานผลิตอาหารแต่ละแห่ง กระตุ้นความตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขอนามัย การจัดการด้านสุขอนามัยและให้คำปรึกษากับผู้ปฏิบัติงานในหน้างาน รวมถึงให้บริการหลังการขายแบบครบวงจร

            คลิกที่นี่ เพื่อรู้จักเราเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

1.Luisa Dillner. Are my non-stick saucepans a health hazard? [Internet]. 2015 [cited 2 Feb 2022]. Available from https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2015/jan/25/are-my-non-stick-pans-a-health-hazard-teflon

2.H. Begley,K. White,P. Honigfort,M. L. Twaroski,R. Neches &R. A. Walker [2007]. Perfluorochemicals: Potential sources of and migration from food packaging. Food Additives & Contaminants. Volume 22, 2005 – Issue 10. Available from https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/02652030500183474?src=recsys#.VMF7P0ve0ds

3.Better Health Channel. Food poisoning – prevention [Internet]. 2021 [cited 3 Fev 2022]. Available from https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/food-poisoning-prevention#people-at-risk-of-food-poisoning

Related Post