ITO Thailand Hygiene Blog
อันตรายทางกายภาพที่พบได้บ่อยในอาหาร
อันตรายทางกายภาพที่พบได้บ่อยในอาหาร เป็นอันตรายที่เกิดจากการรับประทานของแข็ง หรือแหลมคม หรือมีขนาดที่สามารถอุดตันทางเดินหายใจได้ ทำให้เกิดอาการ สำลัก ติดคอ เกิดแผลในระบบทางเดินอาหาร ฟันแตก หัก บิ่น ร้าว เหงือกอักเสบ เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของผู้บริโภค การปนเปื้อนทางกายภาพ อาจส่งผลกระทบร้ายแรงถึงขั้นมีการเรียกคืนสินค้าจากผู้บริโภค ตัวอย่างเช่นในปี 2018 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกามีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ปลาค็อต [2] เนื่องจากมีการปนเปื้อนเศษพลาสติกที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือติดคอ โดยเศษพลาสติกนี้มีที่มาจาก inspection tag หรือป้ายแสดงข้อมูลจากผู้ผลิตวัตถุดิบ อีกกรณีหนึ่งคือการเรียกคืนผลิตภัณฑ์มันฝรั่งแฮชบราวน์ [3] เนื่องจากพบการปนเปื้อนวัสดุจากลูกกอล์ฟ โดยการปนเปื้อนนี้เกิดจากการเก็บเกี่ยววัตถุดิบมันฝรั่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ทำให้ต้องมีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์เพื่อความปลอดภัยจากผู้บริโภค
ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอันตรายทางกายภาพมีความสำคัญอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอาหารและผู้ผลิตมีความจำเป็นต้องใส่ใจในการป้องกันอันตราย
มาตรฐานเกี่ยวกับการปนเปื้อนวัสดุทางกายภาพที่เป็นอันตราย
สำหรับมาตรฐานของประเทศไทยไม่ได้มีการกำหนดขนาดของวัสดุที่ระบุว่าเป็นอันตรายทางกายภาพ แต่โดยทั่วไป มักใช้การกำหนดมาตรฐานจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA CPG Sec. 555.425 Foods, Adulteration Involving hard or Sharp Foreign Objects[1]) มาใช้ในการอ้างอิง โดยมาตรฐานดังกล่าวระบุไว้ดังนี้
1.องค์ประกอบโดยธรรมชาติของอาหารที่มีความแข็งหรือลักษณะแหลมคม เช่น เปลือกถั่ว ก้างปลา มักไม่ก่อให้เกิดอันตรายเนื่องจากผู้บริโภคมีความตระหนักอยู่แล้วว่าอาจมีองค์ประกอบเหล่านี้ปะปนมา เว้นแต่อาหารที่ระบุว่านำองค์ประกอบเหล่านี้ออกไปแล้ว แต่กลับยังมีองค์ประกอบเหล่านี้ หรือเศษขององค์ประกอบเหล่านี้อยู่ อาจทำให้เกิดอันตรายได้โดยไม่คาดคิด (เช่น การพบเศษเมล็ดเชอรี่ในผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าเอาเมล็ดออกแล้ว)
2.ขนาดวัสดุที่เป็นอันตราย ในอาหารพร้อมรับประทาน หรือผ่านขั้นตอนเพียงเล็กน้อยที่ไม่สามารถขจัดอันตรายได้ (เช่น เพียงอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน) คือของแข็งหรือแหลมคมที่มีขนาดความยาว 7-25 มิลลิเมตร
3.ในกรณีที่มีวัสดุขนาด 7-25 มิลลิเมตรปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีขั้นตอนการเตรียมเพิ่มเติมที่อาจสามารถขจัดอันตรายได้ (เช่น กระบวนการร่อน) จะต้องมีการระบุวิธีการเตรียมใช้งานที่เหมาะสม (เช่น ขนาดของตะแกรงร่อน ที่ละเอียดพอที่จะขจัดอันตราย)
4.ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์มีกลุ่มเป้าหมายมีความเสี่ยงหรือความอ่อนไหว (เช่น เด็กทารก ผู้ป่วย คนชรา) วัสดุปนเปื้อนที่มีขนาดเล็กกว่า 7 มิลลิเมตรมีความเสี่ยงต่ออันตราย
5.วัสดุที่มีความยาวมากกว่า 25 มิลลิเมตรมีอันตรายต่อสุขภาพโดยทั่วไป
แหล่งที่มาของอันตรายทางกายภาพที่พบได้บ่อย [4,5]
•วัตถุดิบ
อันตรายทางกายภาพจากวัตถุดิบ อาจเกิดจากผู้ผลิตวัตถุดิบ มีการปฏิบัติการไม่เหมาะสมตามสุขลักษณะ ไม่ระมัดระวัง หรือไม่ตระหนักถึงความปลอดภัย เช่น การเก็บเกี่ยวที่ไม่ระมัดระวัง ทำให้มีการปนเปื้อนสิ่งแปลกปลอมจากสิ่งแวดล้อม เช่น กรวด ทราย กิ่งไม้ ก้อนหิน ฯลฯ, บรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุวัตถุดิบ เช่น ถุงพลาสติก พาเลตไม้ กล่อง ลัง รวมไปถึงป้ายระบุต่าง ๆ มีความไม่เหมาะสม แตกหักเสียหาย ปนเปื้อนลงสู่ผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงกระบวนการแปรรูปวัตถุดิบที่ไม่เหมาะสม เกิดความผิดพลาด หรือมีมาตรการป้องกันไม่มากเพียงพอ เช่น เศษกระดูกจากการชำแหละซากสัตว์ เศษเมล็ดพืช(ที่แข็งและมีขนาดใหญ่)ที่หลงเหลือจากกระบวนการแกะเมล็ดออก เป็นต้น
•พนักงาน
พนักงานอาจเป็นแหล่งที่มาของการปนเปื้อนทางกายภาพ เช่น เส้นผม เส้นขนบนร่างกาย เศษสิ่งสกปรกที่ติดมากับชุดหรือรองเท้า [อ่านเพิ่มเติม] นอกจากนี้ พนักงานอาจนำสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่การผลิต เช่น เครื่องประดับ ปลอกปากกา กระดุม เล็บปลอม หมากฝรั่ง กระดาษทิชชู พลาสเตอร์ติดแผล ฯลฯ ซึ่งอาจปนเปื้อนลงสู่อาหารได้
•อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องจักรในกระบวนการผลิต
อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต เช่น ถุงมือ ใบมีด ลวดเย็บถุงพลาสติก น็อต สกรู เศษเหล็ก เศษฉนวน เศษยางจากเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต เศษแก้วจากอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝาครอบเกจ์วัดความดัน โหลแก้ว เทอร์โมมิเตอร์ ฯลฯ อาจปนเปื้อนลงสู่ผลิตภัณฑ์โดยไม่ตั้งใจหากเกิดการแตกหักเสียหาย การจัดการที่ไม่ระมัดระวัง หรือเกิดการเสื่อมสภาพตามระยะเวลาการใช้งาน
•สิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อมที่อาจปนเปื้อนทางกายภาพ อาจหมายถึงวัสดุโครงสร้างอาคาร สายไฟ วัสดุก่อสร้าง เช่น เศษหิน ทราย ปูน อิฐ แก้ว โลหะ ไม้ เศษกระเบื้อง เศษสีจากผนัง, สิ่งแปลกปลอมจากสัตว์รบกวน มูลสัตว์ ซากแมลง [อ่านเพิ่มเติม]
จะเห็นได้ว่าแหล่งของการปนเปื้อนทางกายภาพมีหลากหลายช่องทางที่ต้องคำนึงถึง สำหรับในโอกาสหน้า เราจะมาพูดถึงการป้องกัน และการลดความเสี่ยงจากอันตรายทางกายภาพ เรายินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างสังคมอาหารปลอดภัยและยกระดับมาตรฐานการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย
โปรดติดตามสาระความรู้คุณภาพจากอิโตะ (ไทยแลนด์) ได้ทุกสัปดาห์ที่เว็บไซต์ของเราและ Facebook ITO Hygiene Thailand
เอกสารอ้างอิง
1.2005. CPG Sec. 555.425 Foods, Adulteration Involving hard or Sharp Foreign Objects. Online: https://www.fda.gov/media/71953/download?fbclid=IwAR3mT-oWxNmWUbFAtQB9ctaHQzyMEnVK98HJ4-qa2ZZAM7iTp2NCjdv-P8U
2.2018. Trident Seafoods Corporation Recalls Frozen Multi-Grain Alaskan Cod Due to Possible Health Risk. https://www.fda.gov/safety/recalls-market-withdrawals-safety-alerts/trident-seafoods-corporation-recalls-frozen-multi-grain-alaskan-cod-due-possible-health-risk
3.2018. McCain Foods USA, Inc. Recalls Frozen Southern Style Hash Browns Due to Possible Health Risk. Product is Sold and Distributed Under The Roundy’s and Harris Teeter Retail Brands. https://www.fda.gov/safety/recalls-market-withdrawals-safety-alerts/mccain-foods-usa-inc-recalls-frozen-southern-style-hash-browns-due-possible-health-risk-product-sold
4.สุพจน์ บุญแรง. (2547). การควบคุมคุณภาพอาหาร.เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.
5.College of Applied Medical Science Department of Environmental Health. 2018. Introduction to Food Safety and Microbiology Lecture 7 PHYSICAL FOOD OF CONTAMINATION. online: http://ams.uokerbala.edu.iq/wp/wp-content/uploads/2018/03/LEC7-food-safrty.pdf
Related Post
-
เกษตรกรรมในเมือง
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดความกังวลในหมู่เกษตรกร อุตสาหกรรม และทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึง carbon footprint จากการขนส่งกำลังทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงมีความตระหนักในการจัดหาอาหารท้องถิ่นเพื่อลดระยะทางในการขนส่งอาหารให้ใกล้กับเขตเมืองมากขึ้น วันนี้ เราจะมาพูดคุยเกี่ยวกับคำจำกัดความของเกษตรกรรมในเมือง โดยแนะนำเกษตรกรรมในเมืองสี่ประเภทหลัก ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และกรณีศึกษาความสำเร็จในการนำเกษตรกรรมในเมืองมาใช้
-
ไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อุปทานอาหาร
พลาสติกส่วนใหญ่ที่ผลิตทั่วโลกถูกใช้ในการบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม เมื่อเวลาผ่านไป พลาสติกจะเกิดการย่อยสลายและแตกออกเป็นอนุภาคขนาดเล็กที่เรียกว่าไมโครพลาสติก ในปี 2016 คาดว่า 60% ของพลาสติกทั้งหมด (322 ล้านตัน) เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียว เช่น ขวดน้ำแบบใช้ครั้งเดียว ภาชนะสำหรับนำกลับบ้าน กระป๋องอาหาร และแผ่นถนอมอาหาร ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการผลิตไมโครพลาสติก วันนี้เราจะมาพูดถึงคำจำกัดความของไมโครพลาสติก การปนเปื้อนในห่วงโซ่อุปทานอาหาร ผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และการป้องกันการปนเปื้อนในห่วงโซ่อุปทานอาหาร
-
Gastrophysics: ตอน ผลของสีต่อความรู้สึกของมนุษย์
วิทยาศาสตร์เพื่อความชอบทางประสาทสัมผัส หลักการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถบอกคุณได้ ว่าอะไรทำให้อาหารมื้อนี้ของคุณน่าประทับใจขนาดนี้
-
วัฒนธรรมความปลอดภัยด้านอาหาร
วัฒนธรรมความปลอดภัยด้านอาหารมีบทบาทสำคัญในการปกป้องชื่อเสียงของบริษัท รับรองความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน และมอบประสบการณ์ที่ปลอดภัยให้กับลูกค้า
-
ประเด็นความปลอดภัยของอาหารแหล่งใหม่ๆ
อาหารแหล่งใหม่ที่เป็นเทรนด์มาแรง ทั้งโปรตีนจากพืช โปรตีนจากแมลง และแหล่งอื่น ๆ มีประเด็นความปลอดภัยอะไรที่ควรรู้บ้าง?
-
มาตรฐานสมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร
ระบบการจัดการความปลอดภัยด้านอาหารมีบทบาทสำคัญในการสร้างและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพสูงแก่ผู้บริโภค เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานอาหารทั่วโลกมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ธุรกิจอาหารจึงต้องใช้ระบบที่มีประสิทธิภาพโดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัย คุณภาพ และการปฏิบัติตามมาตรฐานอุตสาหกรรม ระบบการจัดการความปลอดภัยด้านอาหารประกอบด้วยชุดขั้นตอน กระบวนการ และการควบคุมที่ออกแบบมาเพื่อระบุ ป้องกัน และจัดการอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตและจัดหาอาหาร แนวทางเชิงรุกนี้ไม่เพียงแต่ปกป้องสุขภาพของผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังปกป้องชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของบริษัทอาหารในตลาดที่มีการแข่งขันสูงขึ้นอีกด้วย