ITO Thailand Hygiene Blog

Aug 08 2022

การจัดการสัตว์รบกวนในอุตสาหกรรมอาหาร

4 กลุ่มสัตว์รบกวนที่พบในโรงงานอาหาร (1,2)

แมลงบิน เช่น แมลงวัน แมลงหวี่ แมลงเม่า มดมีปีก

            อาจปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเสื่อมเสีย หรือเป็นพาหะนำเชื้อโรค เช่น เชื้อบิด ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค พยาธิปากขอและพยาธิไส้เดือน จากเชื้อโรคที่ติดตามตัวและขาการถ่ายมูลรดลงบนอาหาร หรือการวางไข่ในอาหาร รวมไปถึงการปนเปื้อนชิ้นส่วน (เช่น ปีก ขา) ลงในผลิตภัณฑ์ด้วย

แมลงคลาน เช่น แมลงสาบ มด มอด รวมไปถึงแมง เช่น แมงมุม

            กลุ่มที่พบมากที่สุดคือแมลงสาบ และมด มีโอกาสปะปนชิ้นส่วน, ไข่ หรือมูล ลงในอาหาร, มีการกัดแทะทำลายวัตถุดิบ ปล่อยกลิ่นไม่พึงประสงค์ ปนเปื้อนเชื้อก่อโรคหรือจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเสื่อมเสีย ในกรณีของแมงมุม อาจผลิตใยและหยากไย่ ที่สามารถดักจับฝุ่นและแมลงอื่น ๆ ปนเปื้อนลงสู่อาหารได้

สัตว์ปีก เช่น นก

            มูลนกมีความเป็นกรดที่อาจกัดกร่อนพื้นผิวให้เสียหาย หรือเสี่ยงต่ออันตรายจากการลื่น รวมถึงอาจมีการปนเปื้อนเชื้อก่อโรค พยาธิ เชื้อรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคไข้สมองอักเสบจากนกพิราบ และ เชื้อโรค Salmonella ในสัตว์ปีก ซึ่งเคยมีรายงานการระบาดของโรคจากเชื้อ Salmonella ที่เกิดจากนกขับถ่ายบนวัตถุดิบอาหาร(3)  นอกจากนี้อาจมีการปนเปื้อนทางกายภาพ เช่น ซากนก ขนนก ชิ้นส่วนของรังนกลงสู่ผลิตภัณฑ์ รวมถึงการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเสื่อมเสีย การดึงดูดสัตว์รบกวนอื่น ๆ เช่นแมลงวัน แมลงสาบ และการส่งเสียงรบกวนด้วย

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว หนู

            สำหรับสุนัขและแมว อาจถูกดึงดูดด้วยเศษอาหารเข้ามาในบริเวณพื้นที่ ขับถ่ายของเสีย เป็นแหล่งการปนเปื้อนเศษขนลงสู่อาหาร เป็นพาหะนำแมลง (เช่น เห็บ หมัด) และเชื้อจุลินทรีย์ลงสู่อาหาร รวมถึงอาจเป็นพาหะนำโรคสู่พนักงานด้วย เช่น โรคพิษสุนัขบ้า โรคพยาธิจากแมว โรคภูมิแพ้ เป็นต้น

            ส่วนหนู เป็นสัตว์รบกวนหลักที่พบ เนื่องจากเป็นสัตว์ขนาดเล็ก ว่ายน้ำได้ ปีนป่ายหรือมุดแทรกเข้าสู่ช่องเล็ก ๆ ได้ง่าย แพร่พันธุ์เร็ว กัดแทะทำลายวัตถุดิบ อุปกรณ์ได้แทบทุกชนิดรวมไปถึงสายไฟฟ้า เป็นพาหะนำเชื้อโรคหลายชนิด และเป็นแหล่งการปนเปื้อนตั้งแต่เศษขน มูล แมลง ไปจนถึงซากสัตว์

3 เทคนิคการป้องกันสัตว์รบกวน

              การลดการดึงดูดสัตว์จากภายนอก

            -ทำการจัดการแหล่งที่อาจเป็นอาหารของสัตว์ให้ถูกสุขลักษณะ เช่น การเก็บวัตถุดิบให้มิดชิด การจัดการขยะเหมาะสม โดยปิดสนิท ทิ้งให้ไกลจากบริเวณผลิต รวมถึงเศษขยะอาหารจากอาหารของพนักงานด้วย การจัดการท่อระบายน้ำ การทำความสะอาดสุขา

            -หากกระบวนการผลิต มีกระบวนการที่เกิดกลิ่นดึงดูดสัตว์ เช่น กระบวนการหมักที่เกิดกลิ่นล่อแมลงหวี่หรือแมลงวัน จะต้องมีการจัดการระบายกลิ่นที่เหมาะสม อาจมีการติดตัวกรองกันแมลง และมีตารางการทำความสะอาดทางระบายกลิ่นสม่ำเสมอ

            -จัดการสิ่งแวดล้อมที่ดึงดูดสัตว์รบกวน เช่น ดอกไม้ที่ดึงดูดแมลง ต้นไม้หรือกันสาดอาคารดึงดูดการสร้างรังของนก ให้ไกลจากอาคารผลิต หรือมีอุปกรณ์ เช่น ตาข่ายกันนก ตาข่ายกันแมลง

            -ใส่ใจในการทำความสะอาดไลน์การผลิตเพื่อลดโอกาสการดึงดูดสัตว์รบกวนด้วยเศษคราบอาหาร

            -แมลงบางชนิดอาจถูกดึงดูดด้วยแสงในเวลากลางคืน การติดตั้งโคมไฟจึงต้องมีความระมัดระวัง หรือใช้แสง อาจติดตั้งเป็นโคมไฟไอโซเดียมแทนหลอดไอปรอท เพื่อให้ไฟออกสีเหลืองนวลแทนขาวสว่าง เพื่อลดการดึงดูดแมลง หรือติดตั้งเสาไฟแยกออกจากตัวอาคาร (2) เป็นต้น

การลดความเสี่ยงบริเวณทางเข้าออก

            -ตรวจสอบทางเข้าออกที่สัตว์อาจใช้งานเข้าออก เช่น ท่อระบายน้ำ รอยรั่ว รอยร้าว หน้าต่าง และทำการจัดการให้เหมาะสม เช่น ติดตั้งตัวดักแมลงสำหรับท่อระบายน้ำ ติดตั้งมุ้งลวดหรือตาข่าย หุ้มขอบประตูที่อาจถูกหนูกัดแทะ การบำรุงรักษาอาคารตามระยะเวลาที่กำหนด

            -ในบริเวณที่เป็นทางเข้าออกพนักงาน ควรลดพื้นที่และเวลาในการเปิดให้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการเข้าออกของสัตว์รบกวนจากภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มแมลง เช่น ติดตั้งม่านริ้ว ประตูปิดอัตโนมัติ การใช้ม่านลม การใช้ประตูเปิดปิดความเร็วสูง

            -การใช้หลักการของสีในการไล่หรือดึงดูดแมลง เช่น เทคโนโลยีผ้าใบ Magic optron ในประเทศญี่ปุ่น มีการจดสิทธิบัตรในการใช้สีที่อยู่ในคลื่นแสงที่แมลงมองไม่เห็นไว้ภายนอก เพื่อลดการดึงดูดแมลง และใช้สีที่แมลงดึงดูดไว้ภายใน เพื่อดึงดูดแมลงที่อาจหลงเหลือเข้ามาให้อยู่บริเวณประตู โดยจากการทดลอง พบว่าสามารถป้องกันแมลงกลุ่มดังกล่าวได้ถึง 7% โดยไม่ใช้สารเคมี

            -การเปลี่ยนรองเท้า รวมถึงการใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดพื้นรองเท้า เช่น แผ่นเหนียวสำหรับเหยียบ หรือเครื่องล้างรองเท้าบูท รวมถึงการทำความสะอาดล้อรถขนของหรือรถโฟล์คลิฟท์ที่ต้องเข้าออกส่วนผลิต เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการเหยียบแมลง ซากแมลง มูลสัตว์ สิ่งสกปรกเข้าสู่ส่วนผลิต และการเหยียบคราบอาหาร เช่น คราบเลือด คราบไขมัน และเดินกระจายเศษคราบทั่วบริเวณผลิต ซึ่งอาจดึงดูดสัตว์รบกวนได้

การจัดการสัตว์ที่อาจหลุดรอดเข้ามาในส่วนผลิต

            -วัตถุดิบที่มีการปะปนของสัตว์ อาจต้องมีการจัดการเป็นพิเศษ เช่น การรมสารเคมีฆ่ามอด การใช้คลื่นไมโครเวฟ (4)

            -ตรวจสอบร่องรอย เช่น โพรง มูลสัตว์ รอยแทะ เศษขนหรือซาก อย่างสม่ำเสมอ

            -ติดตั้งกับดัก เช่น กับดักแสงไฟล่อแมลง กับดักหนู เหยื่อ กาวดักต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การใช้กับดักหรือเหยื่อเหล่านี้ ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการปนเปื้อนสารเคมีลงสู่อาหาร หรือการจัดการซากสัตว์มิให้ปะปนลงสู่อาหารด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.การควบคุมสัตว์พาหะนำโรค. [online] http://www.facagri.cmru.ac.th/2013/wp-content/uploads/2013/03/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%885-%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B0.pdf

2.Australian Environmental Pest Managers Association and the Pest Management Association of New Zealand. 2014. A Code of Practice for Pest Management in the Food Industry in Australia & New Zealand (2nd edition)

3.https://foodpoisoningbulletin.com/2012/salmonella-outbreak-bird-poop-on-peanuts-at-sunland-plant/

4.พูนพัฒน์ พูนน้อย, เบญญทิพย์ มหาเทพ, ภิญญาพัชญ์ พุฒตาล. การทำลายไข่มอดในข้าวอินทรีย์ด้วยคลื่นไมโครเวฟ. วารสารวิจัยและพัฒนา มจธ. ปีที่ 33, ฉบับที่ 1 (ม.ค.-มี.ค. 2553), หน้า 39-48

Related Post