ITO Thailand Hygiene Blog

Aug 01 2022

ความมั่นคงทางอาหาร

4 องค์ประกอบของความมั่นคงทางอาหาร

            เพื่อให้ความมั่นคงทางอาหารนั้นเกิดได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ทั้ง 4 องค์ประกอบจำเป็นต้องเกิดขึ้นในเวลาพร้อมกัน (FAO, 2008; Australian Centre for International Agricultural Research, 2014) ได้แก่

            1.ความพร้อมทางกายภาพ หมายถึง ระบบการผลิตอาหาร การจัดการทรัพยากรที่ดีที่กำหนดปริมาณอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงคุณภาพ และความหลากหลายของอาหาร

            2.การเข้าถึงอาหาร หมายถึง การกำหนดนโยบายทางด้านเศรษฐกิจจากภาครัฐบาล การควบคุมราคาสินค้าในตลาด กลไกราคาสินค้า เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเท่าเทียมได้

            3.การใช้ประโยชน์จากอาหาร หมายถึง การดูแลและจัดการเตรียมอาหารที่ดี ความหลากหลายและการกระจายอาหารอย่างทั่วถึง ส่งผลให้ร่างกายได้รับพลังงานและสารอาหารที่เพียงพอ

            4.ความมีเสถียรภาพ หมายถึง การรักษาเสถียรภาพของหลักการทั้ง 3 ข้อข้างต้นไว้ได้ในระยะยาว แม้ว่าจะมีปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารได้ เช่น ภัยธรรมชาติ สถานการณ์การเมืองหรือเศรษฐกิจ

สถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการในระดับสากล

            มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบด้านความมั่นคงทางอาหารทั่วโลกที่ 720-811 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 118-161 ล้านคน (FAO et al., 2021) โดยสาเหตุหลักมาจากโควิด-19 ที่ถึงแม้ว่าผลกระทบจะเป็นระยะสั้น แต่ส่งผลให้การเข้าถึงอาหารของผู้คนทั่วโลกยากขึ้น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่าผู้ขาดสารอาหารส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศที่ยากจนในทวีปเอเชีย และแอฟริกา(2021) สาเหตุหลักมาจากการปิดเมือง และแหล่งขายอาหารไม่ว่าจะเป็นตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตที่ลดเวลาทำการ ราคาสินค้าอาหารที่สูงขึ้น รวมกับสาเหตุอื่น เช่น รายได้ครัวเรือนที่ลดลงจากสภาพเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดการปรับพฤติกรรมในการบริโภค การเลือกซื้ออาหารแปรรูปซึ่งมักจะมีราคาถูก มีอายุการเก็บรักษานาน มีคุณค่าทางสารอาหารน้อย การรับประทานอาหารในแต่ละมื้อในปริมาณที่น้อยลง ลดความหลากหลายลง การจำกัดกิจกรรมทางสังคม เป็นต้น  (FAO et al., 2021)

ปัจจัยที่สำคัญ

            ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงด้านอาหารนั้นมักจะเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก (FAO et al., 2021) ได้แก่

            1) สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลต่อภาคเกษตรกรรม ผลผลิตทางการเกษตรเกิดความเสียหาย เป็นต้น

            2) ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทั้งจากปัญหาหนี้ในครัวเรือน ส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อต่ำลง

            3) ปัญหาความขัดแย้ง ทั้งภายในประเทศ และความรุนแรงในระดับสงครามระหว่างประเทศ เช่น การรุกรานยูเครนของรัสเซีย (Murphy, 2022) นั้นทำให้โลกเผชิญกับราคาสินค้าอาหารที่สูงขึ้น กลุ่มประเทศยากจนสามารถเข้าถึงอาหารได้ยากขึ้น ปริมาณของข้าวสาลีที่ทั้งรัสเซียและยูเครนผลิตนั้น เป็นสัดส่วนถึง 30% ของปริมาณข้าวสาลีทั้งโลก (Simpson, 2022) รวมถึงรัสเซียนั้นเป็นผู้ผลิตและส่งออกวัตถุดิบที่สำคัญต่อการผลิตปุ๋ย เช่น โพแทสเซียมคลอไรด์ ฟอสเฟต รวมถึงแก๊สธรรมชาติซึ่งจำเป็นต่อการผลิตแอมโมเนีย วัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยไนโตรเจน เป็นต้น (Simpson, 2022)

การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

            มีหลักฐานแสดงว่าการวิจัยและพัฒนาทางด้านการเกษตรกรรมนั้นมีส่วนสำคัญในการปรับปรุงผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลก (Australian Centre for International Agricultural Research, 2014) ซึ่งช่วยให้ผู้คนในกลุ่มประเทศยากจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เข้าถึงและมีความมั่นคงทางด้านอาหารมากขึ้น อย่างไรก็ตามในแต่ละประเทศย่อมจำเป็นต้องใช้วิธีการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน โดยมีข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่แก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เช่น นโยบายด้านมนุษยธรรม การพัฒนาและสร้างสันติภาพในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ เพื่อรักษาการจัดการระบบผลิตอาหารอย่างยั่งยืน การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ นโยบายด้านเศรษฐกิจและกฏหมาย เพื่อปกป้องทุกคนในสังคมอย่างเป็นธรรม รวมถึงการสนับสนุนการเพิ่มรายได้ครัวเรือน การสนับสนุนตลาดแรงงาน นโยบายการปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานอาหาร (Food supply chain) เพื่อลดต้นทุนของอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง นโยบายการจัดการเชิงโครงสร้างและจัดการความยากจน นโยบายการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อสุขภาพที่ดี เป็นต้น (FAO et al., 2021)

            สังเกตได้ว่านโยบายเหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้อย่างเท่าเทียมและมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งผลกระทบนั้นไม่เพียงแค่เกิดขึ้นกับประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่มีผลต่อทุกคนบนโลกใบนี้ เราจึงไม่ควรมองข้ามหรือคิดว่าความมั่นคงทางอาหารนั้นเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่ควรให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน ทาง ITO Thailand ขอเป็นส่วนหนึ่งในการก้าวสู่สังคมอาหารที่มีความมั่นคง และปลอดภัยต่อผู้บริโภค

เอกสารอ้างอิง

1.Australian Centre for International Agricultural Research. (2014, December 22). Food security and why it matters. Australian International Food Security Centre. https://aifsc.aciar.gov.au/food-security-and-why-it-matters.html

2.FAO. (2008). An Introduction to the Basic Concepts of Food Security. EC – FAO Food Security Programme. https://www.fao.org/3/al936e/al936e.pdf

3.FAO, IFAD, UNICEF, WFP and WHO. 2021. The State of Food Security and Nutrition in the World 2021 Transforming food systems for food security, improved nutrition and affordable healthy diets for all. Rome, FAO. https://doi.org/10.4060/cb4474en

4.Murphy, M. (2022, May 19). Ukraine invasion could cause global food crisis, UN warns. BBC News. https://www.bbc.com/news/world-europe-61503049

5.Simpson, E. (2022, March 7). Ukraine war “catastrophic for global food.” BBC News. https://www.bbc.com/news/business-60623941

Related Post