ITO Thailand Hygiene Blog
เทคโนโลยีไอโอที (IoT: Internet of Things) กับอุตสาหกรรมอาหาร
สำหรับในอุตสาหกรรมอาหาร ระบบไอโอทีที่เกี่ยวข้องและเป็นที่นิยมใช้ จะประกอบด้วย ระบบรับข้อมูล ระบบการสื่อสารข้อมูล และ ระบบการวิเคราะห์และนำข้อมูลไปใช้ [1]
ระบบรับข้อมูล
ระบบรับข้อมูลมักเป็นเซนเซอร์ที่สามารถรับรู้สภาพแวดล้อมได้ เช่น สถานที่ อุณหภูมิ ความชื้น ละอองฝุ่นในอากาศ สารเคมี แก๊ส ความเป็นกรดด่าง แรงกระแทก การนับจำนวน การวัดขนาด การรับภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว เป็นต้น ซึ่งเซนเซอร์เหล่านี้จะเก็บข้อมูลตามเวลาจริงเป็นช่วงตามที่กำหนด ทำให้เราสามารถรู้ข้อมูลได้ตามเวลาจริง (real time data) และข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งผ่านระบบออนไลน์ เพื่อไปเก็บและวิเคราะห์ โดยจะส่งผ่านระบบการสื่อสารข้อมูล
ระบบการสื่อสารข้อมูล
ระบบการสื่อสารข้อมูลที่นิยมใช้คือระบบอินเตอร์เน็ต/อีเตอร์เน็ต (Internet/Ethernet) ระบบอาร์เอฟไอดีหรือคลื่นวิทยุ (RFID: radio frequency identification) และระบบเครือข่ายเซนเซอร์ไร้สาย (WSN: wireless sensor network) ซึ่งใช้พลังงานต่ำ สามารถเชื่อมต่อกันได้เอง โดยใช้การดูแลด้วยมนุษย์น้อยมาก เช่น ระบบ Bluetooth, Wi-Fi, ZigBee, Near Field Communication (NFC) [2] ซึ่งข้อมูลจะถูกส่งไปยังระบบบริการจัดเก็บข้อมูลทางออนไลน์ ที่เรียกว่า คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่าคลาวด์ ซึ่งมีทั้งลักษณะฟรีและเก็บค่าบริการ และสามารถเข้าถึงข้อมูลบนคลาวด์จากที่ไหนก็ได้ [3] รวมถึงการส่งสัญญาณคำสั่งผ่านระบบคลาวด์กลับไปยังต้นทางด้วย
ระบบการวิเคราะห์และนำข้อมูลไปใช้
ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูล และการนำข้อมูลไปใช้ มีได้ทั้งการนำข้อมูลดิบตามเวลาจริงไปใช้งานในการตรวจติดตามผลิตภัณฑ์อาหารอย่างง่าย เช่น ความแปรปรวนผิดปกติของอุณหภูมิ แรงกระแทก ปริมาณ ความผิดพลาดของการพิมพ์ฉลาก การจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์ตามบาร์โค้ด ฯลฯ โดยการตั้งค่าเตือนเมื่อเกิดระดับข้อมูลที่ผิดปกติ หรือการบันทึกข้อมูลไว้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการสอบย้อนกลับ (Traceability) อย่างเป็นระบบ
ส่วนการนำข้อมูลดิบมาวิเคราะห์วางแผน เพื่อจุดประสงค์ในการปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดข้อบกพร่องลง เช่น การวางแผนการขนส่งสินค้าจากข้อมูลการจราจรและเส้นทางการเดินรถ การวางแผนการปลูกหรือการผลิตตามความต้องการของลูกค้า การทำนายคุณภาพและความปลอดภัยจากปัจจัยภายใน (เช่น สูตรอาหาร) และปัจจัยภายนอก (เช่น อุณหภูมิ เวลา ความชื้น) ซึ่งทำให้สามารถตรวจติดตามคุณภาพ (เช่น สี เนื้อสัมผัส กลิ่นรส วิตามิน ฯลฯ) และความปลอดภัย (เช่น การฆ่าเชื้อในอาหาร การผลิตพิษของจุลินทรีย์ระหว่างการเก็บ การเกิดสารก่อมะเร็งในน้ำมันทอด ฯลฯ) ได้ตามเวลาจริง โดยไม่ต้องทำลายตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์ และไม่ต้องเสียเวลาในการวิเคราะห์ตัวอย่าง เป็นต้น
ส่วนการตลาดและการส่งเสริมการขาย สามารถใช้ข้อมูลที่เก็บเป็นฐานข้อมูลในการทำนายความต้องการของลูกค้า หรือจัดโปรแกรมส่งเสริมการขายเพื่อระบายสินค้าให้มากขึ้น เช่น การเปลี่ยนจากระบบ มาก่อนไปก่อน (First in – First out) เป็นระบบอายุสินค้าน้อยที่สุดไปก่อน (Least Shelf-life – First out) โดยใช้ข้อมูลทำนายคุณภาพคงเหลือจากประวัติเวลา-อุณหภูมิ แทนการใช้วันหมดอายุแบบเดิม มีรายงานวิจัยว่าสามารถลดความแปรปรวนของคุณภาพของผลิตภัณฑ์และทำให้สามารถลดผลิตภัณฑ์สิ้นอายุได้ดีมากขึ้น [4]
การนำเทคโนโลยีไอโอทีมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยงานด้านมาตรฐานอาหารนั้น จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการเก็บข้อมูลตามเวลาจริง โดยมีความปลอดภัย ไม่สูญหาย สามารถเข้าถึงและค้นหาข้อมูลได้ง่าย เช่น ในกรณีที่ต้องการสอบข้อมูลย้อนกลับ ซึ่งจะช่วยพิสูจน์การปลอมปน (Food fraud) หรือผลิตภัณฑ์ปลอม (counterfeiting) จากแหล่งอื่น รวมทั้งสนับสนุนการป้องกันการก่อการร้ายทางอาหาร (Food defense)
ในกรณีที่ผู้บริโภคต้องการเข้าถึงข้อมูลเรื่องสารก่อภูมิแพ้ของผลิตภัณฑ์ สามารถทำได้ง่ายด้วยตนเองผ่านช่องทางออนไลน์ การใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์จุดวิกฤติ กำหนดค่าวิกฤติ และเฝ้าระวังจุดวิกฤติได้ตามเวลาจริง ทั้งยังมีฟังก์ชันในการจัดการได้ด้วยตัวเองตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ ด้วยระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ ทำให้สามารถจัดการกับปัญหาได้รวดเร็วมากขึ้น และลดอคติหรือความเบี่ยงเบนจากการตัดสินใจด้วยมนุษย์ และช่วยลดปริมาณงานของพนักงาน ทำให้พนักงานสามารถใช้เวลาไปเพื่อการพัฒนาด้านอื่นๆ ขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่ระบบไอโอทีจะถูกนำมาปรับใช้ทั้งสายโซ่การผลิตอาหารตั้งแต่ผลิตวัตถุดิบไปจนถึงการจัดการกับของเสียจากผลิตภัณฑ์อาหาร โดยสามารถควบคุมการปฏิบัติงานได้ง่ายผ่านแอพพลิเคชัน และรวมไปถึงการเข้าถึงข้อมูลของผู้บริโภคอีกด้วย
เทคโนโลยีเหล่านี้กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการควรปรับตัวตามเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
เรายินดีในการให้บริการเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยให้ดีขึ้นและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอาหารที่ยั่งยืน
หากคุณสนใจในเรื่องระบบไอโอที โปรเจคเครื่องจักรอัตโนมัติ หุ่นยนต์ สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาได้ที่นี่
เอกสารอ้างอิง
1.Bouzembrak, Y., Klüche, M., Gavai, A., & Marvin, H. J. (2019). Internet of Things in food safety: Literature review and a bibliometric analysis. Trends in Food Science & Technology, 94, 54-64.
2.Nukala, R., Panduru, K., Shields, A., Riordan, D., Doody, P., & Walsh, J. (2016). Internet of Things: A review from “Farm to Fork.” 2016 27th Irish Signals and Systems Conference (ISSC). doi:10.1109/issc.2016.7528456
3.https://sc2.kku.ac.th/office/sci-it/index.php/29-cloud-computing.html
4.Giannakourou, M. C., & Taoukis, P. S. (2003). Application of a TTI‐based distribution management system for quality optimization of frozen vegetables at the consumer end.Journal of food science, 68(1), 201-209.
Related Post
-
อัพเดทประกาศใหม่เรื่องการกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารฟังก์ชัน
หากคุณเป็นผู้ประกอบการอาหาร ที่สนใจผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง คุณต้องอ่านบทความนี้ เพื่อเรียนรู้ว่า คุณจะโฆษณาอย่างถูกต้องได้อย่างไรบ้าง
-
อัพเดทกฎหมายและมาตรฐานอาหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในปี 2024
ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีอัพเดทกฏหมายและมาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารหลายประเด็น เราขอนำเสนอสรุปข่าวสาร เพื่อช่วยอัพเดทข้อมูลสำหรับการทำงานของเพื่อน ๆ ในวงการอุตสาหกรรมอาหาร ที่มีกลุ่มเป้าหมายในการขยายตลาดไปยังออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่อช่วยทำให้คุณไม่พลาดกับเทรนด์และข้อมูลใหม่ๆ ในปีนี้!
-
สารพิษจากจุลินทรีย์ที่พบได้บ่อยในอาหาร Common Microbial Toxins Found in Food
มีพิษในอาหารตัวไหนบ้างที่ได้ยินในข่าวบ่อยๆ แล้วพิษแต่ละชนิด เกิดจากจุลินทรีย์ใดบ้าง
-
ภาวะโลกเดือด ส่งผลอย่างไรกับอุตสาหกรรมอาหาร
โลกเดือดแล้ว! เมื่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลอย่างไรกับการผลิตอาหารบ้าง?
-
แหล่งที่มาของสารพิษในอาหาร Food Toxin source
อาหารไม่ปลอดภัย อาจอันตรายถึงชีวิต! ทราบหรือไม่ว่าสารพิษในอาหาร มาจากที่ใดได้บ้าง?
-
Mythbusters: ความเชื่อเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหาร จริงหรือมั่ว!? (ตอนที่ 2)
เช็คความรู้ความปลอดภัยอาหารกันหน่อย! ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับความปลอดภัยในอาหารอีกหลายข้อที่น่าสนใจมานำเสนอ ข้อไหนใช่ ข้อไหนมั่ว!?