ITO Thailand Hygiene Blog

Feb 07 2022

เครื่องแต่งกายในโรงงานอาหาร: ความสำคัญเบื้องหลังความสำเร็จ

            เครื่องแต่งกายพื้นฐานตามมาตรฐาน GMP หรือ GHP มีเนื้อหาคล้ายกัน คือ ต้องมีจุดประสงค์ในการปกป้องการปนเปื้อนจากผู้ปฎิบัติงาน เช่น หมวกคลุมผมป้องกันการปนเปื้อนของเส้นผม ผ้าปิดปากป้องการปนเปื้อนจากขนบนใบหน้า น้ำลาย ละอองการหายใจ เสื้อแขนยาว ขายาว ที่ไม่มีกระดุมหรือชิ้นส่วนที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อน ไม่มีกระเป๋าที่สูงกว่าช่วงตัวหรืออก (เนื่องจากของในกระเป๋าอาจหล่นลงไปในระหว่างกระบวนการผลิตได้) ผ้ากันเปื้อน ถุงมือ และมีการเปลี่ยนรองเท้าให้เหมาะสมกับพื้นที่กระบวนการผลิต และป้องกันการปนเปื้อนจากภายนอก โดยไม่ควรใส่เครื่องแต่งกายในส่วนผลิตออกไปภายนอกพื้นที่ที่กำหนด และควรกำหนดแยกพื้นที่ตามระดับความเสี่ยง เช่น โซนวัตถุดิบ โซนบรรจุ โซนสารก่อภูมิแพ้ เป็นต้น

          การกำหนดสีหรือลักษณะของเครื่องแต่งกายให้แตกต่างกัน เพื่อให้หัวหน้างานสามารถสังเกตได้ว่าพนักงานมีการปะปนกันหรือไม่ ซึ่งสามารถป้องกันการปนเปื้อนข้ามได้ เป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการที่ต้องจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ล็อกเกอร์ ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ให้เพียงพอต่อจำนวนพนักงาน และมีการตรวจสอบสภาพความเสียหายของเครื่องแต่งกาย รวมถึงมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมหากจำเป็น เช่น ลูกกลิ้ง เครื่องดูดเส้นผม อุปกรณ์ล้างและฆ่าเชื้อรองเท้าบูท เป็นต้น

           สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมของเครื่องแต่งกาย ไม่ได้มีกำหนดชัดเจนในมาตรฐาน หรือเรียกได้ว่าขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละองค์กร เนื่องจากรายละเอียดของอาหารและกระบวนการผลิตมีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม Dr. Baroudi จากองค์กร Food Safety Institute (FSI) International ในสหรัฐอเมริกา [1] ได้เสนอแนะว่าเครื่องแต่งกายควรเป็นส่วนหนึ่งของระบบ HACCP ในโรงงานอาหารโดยได้มีคำแนะนำเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายในอุตสาหกรรมดังนี้

            – วัสดุและการออกแบบเครื่องแต่งกาย ต้องมีความเหมาะสม มีความทนทาน เนื้อผ้าไม่เป็นขุยง่าย ไม่อมฝุ่น ไม่มีกระดุมหรือชิ้นส่วนที่หลุดได้ง่าย ไม่ควรมีกระเป๋าเสื้อ เนื่องจากทำความสะอาดได้ยากและอาจสะสมสิ่งปนเปื้อนได้

            – เครื่องแต่งกายต้องสะอาดพร้อมเมื่อเริ่มกะในการทำงาน และมีการเปลี่ยนเมื่อสกปรกหรือตามความเหมาะสม

            – มีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในการทำความสะอาดเครื่องแต่งกาย โดยใช้วิธีการทางกายภาพ เช่น การใช้น้ำร้อนอย่างน้อย 71 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 25 นาที และทางเคมี เช่น สารทำความสะอาด สบู่ เพื่อขจัดคราบและจุลินทรีย์ สารคลอรีน 50-150 ppm สามารถใช้ช่วยฟอกขาวและฆ่าเชื้อ และในขั้นตอนสุดท้ายอาจมีการเติมกรดอ่อนเพื่อทำให้สารทำความสะอาดมีฤทธิ์กลายเป็นกลางอย่างรวดเร็ว ช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ได้

            – การอบแห้งผ้าด้วยความร้อน สามารถช่วยป้องกันจุลินทรีย์ได้

            สำหรับในมาตรฐานความปลอดภัยอาหารที่เข้มงวด เช่น มาตรฐาน BRC issue 8 ข้อ 7.4.3 ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า การซักรีดเครื่องแต่งกายควรทำโดยบริษัทที่มีมาตรฐานหรือทำการซักรีดภายในโรงงานเอง โดยต้องผ่านเกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพในการซักรีดทำความสะอาด ได้แก่ การแยกส่วนเครื่องแต่งกายที่สกปรกและสะอาดออกจากกันอย่างเหมาะสม, ประสิทธิภาพในการทำความสะอาด และ การปกป้องเครื่องแต่งกายที่ทำความสะอาดแล้วจากการปนเปื้อนก่อนการใช้งาน

            ขั้นตอนในความสะอาดเครื่องแต่งกายควรเป็นไปอย่างเป็นระเบียบและเป็นขั้นเป็นตอน โดยเริ่มตั้งแต่การแยกชนิดของเสื้อผ้า แยกระดับความสกปรก จากนั้น ทำความสะอาดคราบและสิ่งสกปรกเบื้องต้น แช่ผ้า ทำความสะอาดด้วยสารลดแรงตึงผิว ล้างสารลดแรงตึงผิว (อาจมีขั้นตอนการใช้สารฆ่าเชื้อเพิ่มเติม ขึ้นกับความจำเป็น) จากนั้นจึงทำแห้งด้วยการตากหรืออบแห้งด้วยลมร้อน โดยลักษณะการซักล้างต้องเป็นไปในทิศทางเดียว ไม่มีการปะปนระหว่างเสื้อผ้าที่สะอาดและสกปรก เพื่อป้องกันการปนเปื้อน

            โดยในปัจจุบันในต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น มีบริการทำความสะอาดสำหรับอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยลดภาระขององค์กรในการจัดหาสถานที่และอุปกรณ์ในการทำความสะอาด อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพการทำความสะอาดได้ดีกว่าให้ผู้ปฏิบัติงานรับผิดชอบของส่วนตัว ซึ่งอาจไม่ได้รับความสนใจในการทำความสะอาด และอาจมีการปนเปื้อนภายนอกได้มากกว่า มีรายงานวิจัยในสหรัฐอเมริกา [2] พบว่า การทำความสะอาดเครื่องแต่งกายที่บ้านนั้น เป็นไปได้ยากที่จะทำให้เป็นไปตามข้อกำหนดขององค์กร เนื่องจากพนักงานใส่ชุดเพียงวันละ 1 ชุด ซึ่งโดยปกติพนักงานจะไม่ได้ทำการซักชุดทุกวัน เพราะทำงานมาหนักทั้งวันแล้ว หรือบางครั้งมีการทำงานล่วงเวลาด้วยปริมาณเสื้อผ้าใน 1 วันไม่คุ้มค่าที่จะเสียเงินและลงแรงซัก จึงจะซักเสื้อผ้าประมาณอาทิตย์ละครั้ง ในบางครั้งอาจมีการใส่เครื่องแต่งกายซ้ำ เพราะใส่ชุดแบบเดิมทุกๆ วัน นอกจากนี้ ปัจจัยในครอบครัว (เช่น การที่พนักงานอยู่คนเดียว อยู่เป็นครอบครัว การมีเด็กหรือคนแก่ในครอบครัว) และปัจจัยทางเศรษฐกิจของพนักงาน ก็มีผลต่อความใส่ใจในการดูแลความสะอาดของเครื่องแต่งกายพนักงานด้วย พนักงานที่มีรายได้ไม่เพียงพอหรือมีปัญหาหนี้สิน อาจไม่สามารถจัดหาชุดที่สะอาดสำหรับใส่เพียงพอในทุกวันทำงาน และยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดชุด ทำให้บางครั้ง การทำความสะอาดชุดเป็นไปโดยผ่านๆ และพนักงานใส่ชุดที่ไม่สะอาดเพียงพอเข้าสู่ส่วนผลิตของโรงงาน ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักถูกมองข้ามโดยผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจในองค์กร โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งนิยมให้พนักงานรับผิดชอบชุดตัวเอง ทำให้ประสบปัญหาการปนเปื้อนจากเครื่องแต่งกายเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะองค์กรที่มีพนักงานในส่วนผลิตหลายร้อยคน

            การปรับปรุงจุดอ่อนเหล่านี้ อาจทำได้โดยการจัดตั้งส่วนทำความสะอาดซักรีดเครื่องแต่งกายเป็นส่วนกลาง และมีพนักงานรับผิดชอบโดยตรง เพื่อให้เครื่องแต่งกายของพนักงานได้มาตรฐานอยู่เสมอ โดยเครื่องซัก อบ รีดควรเป็นระดับอุตสาหกรรม ที่สามารถทำความร้อนฆ่าเชื้อโรคบนผ้า และรองรับน้ำหนักผ้าในปริมาณมากได้

            นอกจากเครื่องแต่งกายแล้ว รองเท้าที่ใช้ในส่วนผลิต (มักเป็นรองเท้าบูทยางกันน้ำ) ยังเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญด้านความสะอาดและการฆ่าเชื้อ โดยต้องแยกออกจากรองเท้าสำหรับภายนอก และห้ามนำออกนอกบริเวณการผลิต ควรทำความสะอาดรองเท้าและตากให้แห้งก่อนการนำมาใส่เมื่อเริ่มปฏิบัติงาน และมีการทำความสะอาดรองเท้าเพิ่มเติมก่อนเข้าปฏิบัติงาน เช่น การจุ่มลงในบ่อที่มีสารฆ่าเชื้อ การใช้เครื่องล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออัตโนมัติ การเดินผ่านพรมกาวเพื่อดักจับฝุ่น เป็นต้น

            ความใส่ใจในรายละเอียด แม้ในจุดที่คนทั่วไปอาจมองข้าม เป็นหนึ่งในกุญแจสู่ความสำเร็จที่อิโตะ ไทยแลนด์ ยึดมั่น และพร้อมสนับสนุนให้อุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในอาหาร สามารถแข่งขันในตลาดการค้าระดับสากลได้

อ้างอิง

1.Baroudi, A. (2007). A Uniform Approach to HACCP. TEXTILE RENTAL, 90(8), 64.

2.Clayton, M. L., Clegg Smith, K., Neff, R. A., Pollack, K. M., & Ensminger, M. (2015). Listening to food workers: Factors that impact proper health and hygiene practice in food service. International journal of occupational and environmental health21(4), 314-327.

 

Related Post