ITO Thailand Hygiene Blog

Dec 11 2021

ISO 22000

มาทำความรู้จักกับ ISO 22000 กันเถอะ

ISO 22000 เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับระบบการจัดการความปลอดภัยในอาหาร (Food Safety Management Systems) จัดทำขึ้นโดย International Organization for Standardization ซึ่งเป็นองค์กรระดับสากล ที่มีประเทศสมาชิกเข้าร่วมกว่า 164 ประเทศ นั่นหมายความว่า ISO 22000 เป็นมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับกันดีในระดับโลก การจัดทำมาตรฐานนี้ จึงเป็นการพัฒนาระบบขององค์กรเพื่อการยอมรับระดับนานาชาตินั่นเอง โดยใจความหลักของมาตรฐานนี้มุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยของอาหารต่อผู้บริโภค โดยผ่านกระบวนการจัดการ วิเคราะห์ในประเด็นต่าง ๆ ทั้งความเสี่ยง โอกาส จุดวิกฤต การควบคุมปัญหาและการพัฒนาระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น

ประโยชน์ของ ISO 22000

มาตรฐานนี้สามารถเป็นใบเบิกทางให้องค์กรเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติได้มากขึ้น และสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ได้ เนื่องจากมีการรับรองด้านความปลอดภัย ซึ่งการรับรองความปลอดภัยนี้จะส่งผลดีต่อผู้บริโภค ให้ความความพึงพอใจและความเชื่อมั่นต่อองค์กรมากขึ้น ลดโอกาสเกิดข้อร้องเรียน ข้อพิพาท จากปัญหาการเจ็บป่วยจากอาหาร นอกจากนี้ยังดึงดูดความสนใจต่อผู้ลงทุนได้ เนื่องจากแสดงถึงจริยธรรมในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์อาหาร มีความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสที่ดีในเชิงของผลต่อทางสังคม มาตรฐานนี้เป็นหนึ่งในตัวช่วยในการเพิ่มความมั่นคงขององค์กรว่ามีการปฏิบัติตามข้อกำหนดกฏหมายอย่างถูกต้อง มีการจัดเก็บเอกสารหลักฐานข้อมูลต่าง ๆ พร้อมรับการตรวจสอบ และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของประชาชน ทำให้มีอาหารที่ปลอดภัยและมีความยั่งยืนในสังคม

สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนกลับมาที่ผู้ประกอบการเองว่าสามารถเพิ่มผลกำไรได้จากโอกาสทางการตลาดและการแข่งขันใหม่ๆ ลดค่าใช้จ่ายและการสูญเสียจากกรณีอาหารไม่ปลอดภัย เช่น การเรียกคืนและทำลายสินค้า ทำให้องค์กรมีภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นที่ดีต่อทั้งนักลงทุนและผู้บริโภค และเป็นตัวช่วยในการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

นอกจากนี้ ISO 22000 นับเป็นส่วนหนึ่งของข้อกำหนดเงื่อนไขในการขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้อีกด้วย ตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการยกระดับไปสู่มาตรฐานเพื่อความยั่งยืนระดับสากลตามประกาศที่ 1 / 2564 ข้อ 5 ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI) เช่น การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นต้น (ข้อมูล ณ ตุลาคม 2564)

ใครต้องทำมาตรฐานนี้บ้าง?

มาตรฐาน ISO 22000 นี้ได้กำหนดขอบเขตไว้ว่าเป็นข้อกำหนดสำหรับทุกองค์กรที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานอาหาร โดยเขียนในเชิงทั่วไป ไม่เฉพาะเจาะจง สามารถนำไปใช้ได้ทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในทางตรงและทางอ้อม เช่น กลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ กลุ่มผู้เก็บผลผลิตจากพืชและสัตว์ป่า ผู้ผลิตวัตถุดิบ เกษตรกร ปศุสัตว์ การประมง ผู้ผลิตสารปรุงแต่งหรือส่วนผสมในอาหาร ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหาร ผู้ค้าปลีก ผู้ให้บริการเกี่ยวกับอาหาร เช่น ร้านอาหาร บริการจัดเลี้ยง บริการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ บริการจัดเก็บสินค้า ขนส่งและกระจายสินค้า รวมถึงผู้ผลิตอุปกรณ์ สารเคมีในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์หรือวัสดุสัมผัสอาหารต่าง ๆ โดยจะสามารถใช้ได้ทั้งในองค์กรขนาดเล็ก หรือผู้ประกอบการรายย่อย เช่น เกษตรกรรายย่อย ผู้ขนส่งสินค้ารายย่อย และ ผู้ค้าปลีกรายย่อย เป็นต้น ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน

รายละเอียดของ ISO22000

มาตรฐาน ISO22000 แบ่งออกเป็น 10 หัวข้อ โดยจะเป็นการบูรณาการระหว่าง 4 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่

1) การสื่อสารกับแบบมีการโต้ตอบ (Interactive communication)

ในการสื่อสาร องค์กรจะต้องมีการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกให้ชัดเจน (สื่อสารอะไร/เมื่อไหร่/กับใคร/อย่างไร/โดยใคร: what/when/with whom/how/who) สำหรับการสื่อสารภายนอก ประกอบด้วย ผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบ ลูกค้าหรือผู้บริโภค เจ้าหน้าที่ทางกฏหมาย และองค์กรอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยการสื่อต้องควรเป็นไปในแบบสองทาง มีการโต้ตอบ เพื่อให้ทราบความต้องการหรือข้อมูลจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น การสื่อสารกับลูกค้า/ผู้บริโภค นอกจากให้ข้อมูลด้านความปลอดภัยแล้ว ยังต้องรับข้อเสนอแนะหรือข้อร้องเรียนต่าง ๆ มาเพื่อปรับปรุงแก้ไขด้วย ในส่วนของการสื่อสารภายในองค์กร ต้องมีการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอเพื่ออัพเดทข้อมูลให้แต่ละภาคส่วนเข้าใจตรงกัน ตั้งแต่ผู้บริหาร หัวหน้างาน ไปจนถึงผู้ปฏิบัติงาน โดยมีการจัดเก็บเอกสารหลักฐานให้ชัดเจนด้วย

2) การบริหารจัดการอย่างมีระบบ (System management)

การบริหารจัดการอย่างมีระบบ สามารถนำกระบวนการคิดแบบ PDCA cycle (วางแผน/ปฏิบัติ/ตรวจสอบประเมิน/ปรับปรุง: Plan/Do/Check/Act) เข้ามาเป็นตัวช่วยในการวางระบบได้ ดังนี้

o Plan หมายถึง มีการวางแผน การสนับสนุนทรัพยากรจากฝ่ายบริหาร การประเมินความเสี่ยง (risk) และโอกาส (opportunities)

o Do หมายถึง มีการปฏิบัติงาน (operation) ตามแผนที่ได้วางไว้

o Check หมายถึง มีการตรวจติดตาม ประเมินผล และวิเคราะห์ผลเพื่อรายงานความสำเร็จหรือปัญหา

o Act หมายถึง มีการจัดการเพื่อปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้นหากจำเป็น

3) มาตรการควบคุมสุขลักษณะพื้นฐาน (Prerequisite programs)

จะอยู่ในส่วนของขั้นตอนการปฏิบัติงาน (operation) โดยนำหลักการควบคุมสุขลักษณะที่เหมาะสมกับแต่ละองค์กรมาใช้ เช่น GAP สำหรับภาพเกษตรกรรม, GMP/GHP สำหรับโรงงานผลิตอาหาร เป็นต้น  อ่านเพิ่มเติม… 

โดยพิจารณาถึงการป้องกันการปนเปื้อนจากแหล่งต่าง ๆ เช่น การจัดสรรพื้นที่การผลิต, ความสะอาดของน้ำ อากาศ วัตถุดิบ และสิ่งแวดล้อม, การจัดการสัตว์รบกวน ของเสียและการบำบัดน้ำทิ้ง, อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักร, กระบวนการต่าง ๆ ในการผลิต ทำความสำอาดและฆ่าเชื้อ, สุขลักษณะส่วนบุคคล และ การให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ต่อผู้บริโภค เป็นต้น

4) หลักการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤต HACCP

ในส่วนนี้จะอยู่ในขั้นตอนการปฏิบัติงาน (operation) เช่นเดียวกัน โดยต้องมีการวิเคราะห์อันตรายในอาหาร (Food Hazard) ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 4 แบบคือ อันตรายเชิงกายภาพ (Physical Hazard) เชิงเคมี (Chemical Hazard) เชิงชีวภาพ (Biological Hazard) และสารก่อภูมิแพ้ (Allergen Hazard) โดยต้องทำการวิเคราะห์ตั้งแต่ในวัตถุดิบ กรรมวิธีการผลิต บรรจุภัณฑ์ ตัวผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงกระบวนการเก็บรักษาและขนส่งผลิตภัณฑ์สู่ผู้บริโภค โดยวาดในลักษณะแผนภาพแสดงแต่ละขั้นตอน (flow chart) รวมถึงระบุความเสี่ยงและโอกาสในการเกิดอันตราย และระดับวิกฤติหรือค่าที่ยอมรับได้ จากนั้นต้องมีการออกแบบวิธีควบคุมอันตรายและการประเมินผล การปฏิบัติตามแผน การตรวจติดตาม ประเมินและการทวนสอบผลการควบคุมอันตราย และทำการปรับปรุงหรืออัพเดทกระบวนการให้ดีขึ้นสม่ำเสมอ

อิโตะขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนสังคมอาหารปลอดภัยในประเทศไทย เพื่อให้อุตสาหกรรมอาหารไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน

คลิกที่นี่ เพื่อรู้จักเราเพิ่มเติม

Related Post