ITO Thailand Hygiene Blog
สารพิษจากจุลินทรีย์ที่พบได้บ่อยในอาหาร Common Microbial Toxins Found in Food
สารพิษจากจุลินทรีย์ที่พบได้บ่อยในอาหาร
Common Microbial Toxins Found in Food
มีพิษในอาหารตัวไหนบ้างที่ได้ยินในข่าวบ่อยๆ แล้วพิษแต่ละชนิด เกิดจากจุลินทรีย์ใดบ้าง
ความปลอดภัยของอาหารเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมอาหาร ดังนั้น เราจึงมีการพูดถึงสารพิษที่อยู่ในอาหารในคอนเทนท์ที่ผ่านมา โดยในบรรดาสารพิษ พิษจากจุลินทรีย์เป็นหนึ่งในสิ่งที่ควบคุมได้ยากที่สุด และพบปัญหาต่อสุขภาพได้ค่อนข้างบ่อย เนื่องจากจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิต ทั้งจากกระบวนการฆ่าเชื้อที่ไม่เหมาะสม และการปนเปื้อนข้าม กลับลงสู่อาหาร สามารถเจริญเติบโตและผลิตพิษ ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา จึงเป็นที่มาของสาเหตุการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ เริ่มตั้งแต่อาการธรรมดาอย่างท้องเสีย อาเจียน ไปจนถึงการเกิดภาวะเฉียบพลันจนถึงแก่ชีวิตได้ การรู้จักพิษและจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดพิษเหล่านี้ อาจทำให้คุณสามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคอาหารเป็นพิษได้ดีมากขึ้นในอนาคต
ตัวอย่างพิษที่พบได้บ่อยในอาหาร
1.อะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin)
เป็นพิษจากเชื้อรา Aspergillus flavus ซึ่งสามารถพบได้ในธัญพืช ถั่ว ผลิตภัณฑ์นม และของแห้งต่าง ๆ เช่น ชา เครื่องเทศ และผงโกโก้ เป็นต้น [1] โดยมักสับสนกับ อัลฟาทอกซิน (Alpha toxin) ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Clostridium sp.
การทำลายพิษดังกล่าว ต้องใช้อุณหภูมิสูงมากเกินกว่าที่ใช้ในการประกอบอาหารปกติ (ประมาณ 195 องศาเซลเซียส) ทำให้พิษชนิดนี้เป็นอันตรายมากหากมีการปนเปื้อนในอาหาร หากรับประทานพิษอะฟลาทอกซินในปริมาณมาก สามารถทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ทันที หรือทำให้เกิดอาการผิดปกติที่ตับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Aflatoxin B1 ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งตับ [1]
สำหรับอะฟลาท็อกซินในข่าว มักปรากฏรายงานการเรียกคืนสินค้าอยู่เรื่อย ๆ เนื่องจากมีความเสี่ยงปนเปื้อนพิษอะฟลาทอกซิน เช่น ข่าวล่าสุดคือ การเรียกคืนเนยถั่วในแอฟริกาใต้ ในเดือน กุมภาพันธ์ 2024 [2]
2.Botulinum toxin
พิษ Botulinum toxin เป็นพิษจากจุลินทรีย์ Clostridium botulinum ทำให้เกิดอาการอัมพาตและระบบทางเดินหายใจล้มเหลวจนเสียชีวิตได้ จุลินทรีย์ดังกล่าว เติบโตได้ในสภาวะปิดที่ไม่มีออกซิเจน และมีสปอร์ที่ทนอุณหภูมิสูง เช่น อาหารกระป๋องที่มีความเป็นกรดต่ำ ดังนั้น ในการฆ่าเชื้อทางการค้า จะใช้เชื้อดังกล่าวเป็นเกณฑ์ความปลอดภัย นั่นคือ ต้องมีการควบคุมทำลายสปอร์ของเชื้อนี้ให้อยู่ในระดับที่มั่นใจได้ว่าปลอดภัยจึงถือว่าผ่านเกณฑ์
สำหรับในประเทศไทย เคยพบผู้ป่วยจากการปนเปื้อนเชื้อดังกล่าวในหน่อไม้บรรจุปี๊บหรือถุงพลาสติก โดยมีอาการเวียนศีรษะ อ่อนแรง หนังตาตก กลืนและพูดลำบาก [3]
ในปัจจุบัน พิษ Botulinum toxin ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในด้านการแพทย์และการเสริมความงามเพื่อยับยั้งอวัยวะหรือกล้ามเนื้อเฉพาะจุดให้ไม่เคลื่อนที่ เรียกว่าการฉีดโบท็อกซ์ เช่น การฉีดยับยั้งการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบนใบหน้าเพื่อลดริ้วรอย การฉีดยับยั้งการทำงานของต่อมเหงื่อ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องเหงื่อออกมากและกลิ่นตัว การรักษาอาการตาเหล่ กล้ามเนื้อเกร็ง ใบหน้ากระตุก เป็นต้น [4]
3.Enterotoxins
เอนเทอโรทอกซิน (enterotoxins) คือพิษที่ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารและลำไส้ สามารถพบได้จากแบคทีเรีย เช่น Staphylococcus aureus, Escherichia coli, Bacillus cereus, Vibrio cholerae เป็นต้น [5] เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษที่พบได้บ่อยครั้ง
ตัวอย่างอาหารที่มักพบการปนเปื้อนเอนเทอโรทอกซินในประเทศไทย
•แหนม เคยพบการปนเปื้อนพิษจากเชื้อ Staphylococcus aureus จากการรับประทานแหนมดิบและเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย วิงเวียน เป็นตะคริว ปวดศีรษะ [6]
•นม มีรายงานการปนเปื้อนพิษจาก Bacillus cereus ในนมโรงเรียน ซึ่งอาจเกิดปัญหาจากอุณหภูมิในระหว่างการขนส่งไม่เหมาะสม ทำให้เกิดผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษกว่า 250 ราย [7]
•อาหารที่เก็บในอุณหภูมิห้องเป็นเวลานาน และไม่อุ่นร้อนก่อนรับประทาน เช่น ข้าวมันไก่ [8] เนื้อสัตว์ต้มไหว้เจ้า [9] กับข้าวร้านข้าวราดแกง [10] ข้าวปั้นซูชิ [11] ข้าวหมูแดง [12] เป็นต้น
เอนเทอโรทอกซินแต่ละชนิดมีความทนต่อความร้อนที่แตกต่างกัน ขึ้นกับชนิดของพิษ และสภาวะของอาหาร เช่น องค์ประกอบ ระดับความเป็นกรด ความเข้มข้นของเกลือ ความชื้น ฯลฯ ซึ่งพิษบางชนิดสามารถทนอุณหภูมิที่สูงกว่าน้ำเดือดได้ [13] ทำให้การอุ่นซ้ำ อาจไม่สามารถทำลายพิษที่เกิดขึ้นในอาหารแล้วได้
ส่วนใหญ่พิษจากจุลินทรีย์เหล่านี้ จะทำลายได้ยาก หรือมีความเสี่ยงที่จะทำลายได้ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ในการป้องกันอาหารเป็นพิษจากจุลินทรีย์ จึงควรเริ่มตั้งแต่ต้นทาง คือ เริ่มจากกระบวนการผลิตหรือประกอบอาหาร มีความสะอาดและถูกสุขอนามัย มีกระบวนการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ถูกต้องเหมาะสม และนานเพียงพอ มีการเก็บอาหารที่ปรุงเสร็จในสภาวะที่เหมาะสม รวมไปถึงการมีความรู้ความเข้าใจเรื่องความปลอดภัยอาหารของผู้ปฏิบัติงานด้วย
ทางอิโตะ (ไทยแลนด์) ขอสนับสนุนการยกระดับสุขอนามัยและความปลอดภัยอาหารอย่างยั่งยืน
เอกสารอ้างอิง
1.Negash, D. (2018). A review of aflatoxin: occurrence, prevention, and gaps in both food and feed safety. Journal of Applied Microbiological Research, 1(1), 35-43.
2.https://www.ditp.go.th/post/164193
3.https://www.hfocus.org/content/2014/04/7006
5.Harris, R. C. (1988). Review of selected bacterial enterotoxins and their role in gastroenteritis. Annals of Clinical & Laboratory Science, 18(2), 102-108.
6.https://ch3com/news/social/morning/355873
7.Thantithaveewat, T., Wilairat, S., Posri, D., Wechwithan, S., Muangmonprasert, T., Thammawijaya, P., & Jirapongsa, C. (2013). School Milk: Causing Food Poisoning Outbreaks, Nakhon Pathom Province, Thailand, August 2011-การ ระบาด ของ โรค อาหาร เป็น พิษ จาก การ บริโภค นม โรงเรียน อำเภอ พุทธ มณฑล จังหวัด นครปฐม เดือน สิงหาคม Journal of Health Science of Thailand, 584-595.
8.https://www.thairath.co.th/lifestyle/food/2385035
9.https://www.thairath.co.th/lifestyle/food/2451201
10.https://www.thairath.co.th/lifestyle/food/2766771
11.https://www.thairath.co.th/lifestyle/food/2589568
12.https://www.thairath.co.th/lifestyle/food/2691244
13.Tatini, S. R. (1976). Thermal stability of enterotoxins in food. Journal of Food Protection, 39(6), 432-438.
Related Post
-
อัพเดทประกาศใหม่เรื่องการกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารฟังก์ชัน
หากคุณเป็นผู้ประกอบการอาหาร ที่สนใจผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง คุณต้องอ่านบทความนี้ เพื่อเรียนรู้ว่า คุณจะโฆษณาอย่างถูกต้องได้อย่างไรบ้าง
-
อัพเดทกฎหมายและมาตรฐานอาหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในปี 2024
ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีอัพเดทกฏหมายและมาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารหลายประเด็น เราขอนำเสนอสรุปข่าวสาร เพื่อช่วยอัพเดทข้อมูลสำหรับการทำงานของเพื่อน ๆ ในวงการอุตสาหกรรมอาหาร ที่มีกลุ่มเป้าหมายในการขยายตลาดไปยังออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่อช่วยทำให้คุณไม่พลาดกับเทรนด์และข้อมูลใหม่ๆ ในปีนี้!
-
ภาวะโลกเดือด ส่งผลอย่างไรกับอุตสาหกรรมอาหาร
โลกเดือดแล้ว! เมื่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลอย่างไรกับการผลิตอาหารบ้าง?
-
แหล่งที่มาของสารพิษในอาหาร Food Toxin source
อาหารไม่ปลอดภัย อาจอันตรายถึงชีวิต! ทราบหรือไม่ว่าสารพิษในอาหาร มาจากที่ใดได้บ้าง?
-
Mythbusters: ความเชื่อเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหาร จริงหรือมั่ว!? (ตอนที่ 2)
เช็คความรู้ความปลอดภัยอาหารกันหน่อย! ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับความปลอดภัยในอาหารอีกหลายข้อที่น่าสนใจมานำเสนอ ข้อไหนใช่ ข้อไหนมั่ว!?
-
Mythbusters: ความเชื่อเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหาร จริงหรือมั่ว!? (ตอนที่ 1)
ความเชื่อเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหาร เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องโกหกกันนะ? คุณเคยได้ยินความเชื่อแบบนี้หรือไม่? แล้วความจริงเป็นอย่างไรกันแน่