ITO Thailand Hygiene Blog
รวมเรื่องราวเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหาร ในปี 2023 part 1
รวมเรื่องราวเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหาร ในปี 2023 part 1
Food Safety news highlights 2023 part 1
มกราคม 2023
ในช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2022 จนถึง มกราคม 2023 มีการระบาดของเชื้อ Salmonella Enteritidis ในประเทศสวีเดน จากการปนเปื้อนในไข่ จนมีผู้ป่วยเกือบ 50 ราย และต้องมีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ไข่สด และกำจัดไก่ที่ติดเชื้อโรคไปเป็นปริมาณมากราว 165,000 ตัว [1] ในขณะเดียวกัน ในประเทศบัลแกเรีย ก็พบการระบาดของชื้อไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรง (highly pathogenic avian influenza: HPAI) จึงต้องมีการทำลายปศุสัตว์กลุ่มนกกระทา ประมาณ 25,000 ตัวเช่นเดียวกัน [2] ส่วนภายในประเทศไทย พบรายงานข่าวว่า นักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ ป่วยอาหารเป็นพิษรวม 58 ราย คาดว่าเกิดจากอาหารที่ปรุงแจกในงานวันเด็กมีการปนเปื้อนขึ้น [3]
กุมภาพันธ์ 2023
ในเดือนกุมภาพันธ์ ผู้ป่วยจากกรณีเชื้อ Salmonella ในสวีเดนก็ยังเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ในเดือนนี้ ก็พบการระบาดของเชื้อ Listeria monocytogenes ในชีส จน Canadian Food Inspection Agency ต้องทำการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ชีส ในช่วงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ [4]
ในส่วนของการปรับปรุงกฏระเบียบ ในเดือนนี้ ประเทศอินโดนิเซียได้ให้สัตยาบันในการอนุญาตให้ใช้จุลินทรีย์ในอาหารแปรรูป โดยมีรายละเอียดถึง ชนิดจุลินทรีย์ 16 ชนิด, ชนิดของอาหาร และปริมาณจุลินทรีย์ ซึ่งหลังจากนี้ 30 เดือน อาหารแปรรูปจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดนี้ [5] ส่วนประเทศญี่ปุ่น มีการแก้ไขพระราชบัญญัติการสุขาภิบาลอาหาร ระบุรายการอาหารเพิ่มเติมที่ยกเว้นจากการขอใบอนุญาตผลิตอาหารบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท เช่น ผลิตภัณฑ์แห้งที่ใช้ทดแทนชา มันฝรั่งอบแห้ง เห็ดแห้ง เป็นต้น [6]
มีนาคม 2023
เมื่อเข้าสู่เดือนมีนาคม Washington State Department of Health (DOH) และ Food and Drug Administration (FDA) มีการสืบสวนการระบาดของไวรัสตับอักเสบเอ (hepatitis A) 6 เคสในรัฐวอชิงตัน และพบว่าเกี่ยวข้องกับสตรอเบอรี่แช่แข็งที่อาจมีการปนเปื้อนไวรัส จึงมีการเรียกคืนสินค้าเพื่อกำจัดในช่วงกลางเดือน [7] ในเดือนเดียวกันนี้ สมาคมองค์กรเพื่อผู้บริโภคในสหภาพยุโรป (BEUC)ได้เรียกร้องให้คำกล่าวอ้างเกี่ยวกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือสิ่งแวดล้อมบนฉลากผลิตภัณฑ์ เช่น “Carbon neutral,” “CO2 neutral,” “carbon positive,” “carbon neutral certified” เนื่องจากเป็นข้อความทางการตลาดที่ให้ผลเสียมากกว่าผลดี [8] ซึ่งยังคงต้องติดตามต่อไปถึงการกำหนดข้อกำหนดที่เหมาะสม
ส่วนเรื่องราวของข้อกำหนดกฏหมาย ในเดือนนี้ EU ได้ออกข้อกำหนดใหม่ ที่ระบุปริมาณสารหนู ที่อนุญาตให้พบในผลิตภัณฑ์อาหารในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าเดิม เพื่อความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ เช่น ข้าวขาว อาหารทารก น้ำผลไม้ และเกลือ เป็นต้น [9]
เมษายน 2023
เข้าเดือนเมษายน ทางฝั่งของอเมริกา หน่วยงาน USFDA ได้ประกาศเรียกคืน ผลิตภัณฑ์แป้งสาลี เนื่องจากมีการปนเปื้อน Salmonella Infantis จนมีผู้ป่วยรวม 14 รายกระจายใน 13 รัฐ ของสหรัญอเมริกา [10] ในขณะที่ ในประเทศไทย มีข่าวพบการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ก่อโรค Bacillus cereus ในผลิตภัณฑ์ก๋วยเตี๋ยวกึ่งสำเร็จรูป จากการสุ่มตรวจเชื้อประจำปี (ไม่ได้มีการนำสินค้าล็อตดังกล่าวออกวางจำหน่าย) [11]
ในเดือนเดียวกันนี้ USFDA ได้เริ่มเปิดรับข้อคิดเห็นต่อร่างระเบียบว่าด้วยการใช้สารทดแทนเกลือ เพื่อลดปริมาณโซเดียมและความเสี่ยงการเกิดโรคที่เกี่ยวข้อง [12,13] ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปค่ะ ว่าข้อกำหนดจะออกมาเป็นอย่างไร
พฤษภาคม 2023
ในเดือนนี้ ประเทศสเปน มีรายงานการระบาดของโรคติดเชื้อพยาธิตัวกลม (Trichinosis) พบผู้ป่วยรวมถึง 16 ราย โดยเริ่มพบการระบาดตั้งแต่กลางเดือนเมษายน คาดว่าเกิดจากการรับประทานผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่ผ่านความร้อนไม่เพียงพอ เช่น หมู หรือ หมูป่า เป็นต้น [14] ส่วนช่วงปลายเดือน มีรายงานสรุปการระบาดของโนโรไวรัส ที่มีที่มาจากร้านอาหารแห่งหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย จนมีผู้ป่วยราว 100 ราย โดยบังคับในการสั่งปิดร้านดังกลาวเพื่อทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรค และทำการสอบสวนต้นเหตุของการปนเปื้อนที่เกิดขึ้น [15]
ในด้านของข้อกำหนด สิงคโปร์ได้เผยแพร่กฎระเบียบด้านอาหารปี 2566 ฉบับปรับปรุง เกี่ยวกับข้อบังคับด้านสารเคมีกันเสีย และยารักษาสัตว์ในอาหาร [16] เช่นเดียวกับประเทศจีน ที่มีการเผยแพร่หนังสือรายชื่อวัตถุดิบอาหารใหม่ วัตถุเจือปนอาหาร วัสดุสัมผัสอาหาร (FCM) และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องฉบับปรับปรุง [17]
มิถุนายน 2023
ในเดือนนี้เริ่มมีรายงานการระบาดของเชื้อโปรโตซัว Cyclospora กว่า 210 เคส โดยคาดว่าเกี่ยวข้องกับการรับประทานผลิตภัณฑ์บล็อกโคลี ทำให้เกิดอาการวิงเวียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง อาเจียน อ่อนเพลียได้ [18]
♥ ผ่านไปแล้วกับข่าวสารในครึ่งแรกของปีนะคะ เรามาติดตามเรื่องราวนี้และอัพเดตข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการระบาดของอาหารและกฎระเบียบในครึ่งหลังของปีต่อได้ในคอนเทนต์หน้าค่ะ
เอกสารอ้างอิง
1.https://www.foodsafetynews.com/2023/01/number-sick-in-swedish-salmonella-outbreak-doubles/
2.https://warning.acfs.go.th/th/early-warning/view/?page=8481
3.https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2602073
5.https://warning.acfs.go.th/th/early-warning/view/?page=8585
6.https://warning.acfs.go.th/th/early-warning/view/?page=8549
9.https://www.agriland.ie/farming-news/eu-adopts-new-rules-to-reduce-arsenic-in-food/
11.https://www.thaipbs.or.th/news/content/326339
12.https://warning.acfs.go.th/th/early-warning/view/?page=8793
14.https://www.foodsafetynews.com/2023/05/trichinella-outbreak-sickens-16-in-spain/
16.https://warning.acfs.go.th/th/early-warning/view/?page=8824
17.https://warning.acfs.go.th/th/early-warning/view/?page=8853
Related Post
-
อัพเดทประกาศใหม่เรื่องการกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารฟังก์ชัน
หากคุณเป็นผู้ประกอบการอาหาร ที่สนใจผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง คุณต้องอ่านบทความนี้ เพื่อเรียนรู้ว่า คุณจะโฆษณาอย่างถูกต้องได้อย่างไรบ้าง
-
อัพเดทกฎหมายและมาตรฐานอาหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในปี 2024
ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีอัพเดทกฏหมายและมาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารหลายประเด็น เราขอนำเสนอสรุปข่าวสาร เพื่อช่วยอัพเดทข้อมูลสำหรับการทำงานของเพื่อน ๆ ในวงการอุตสาหกรรมอาหาร ที่มีกลุ่มเป้าหมายในการขยายตลาดไปยังออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่อช่วยทำให้คุณไม่พลาดกับเทรนด์และข้อมูลใหม่ๆ ในปีนี้!
-
สารพิษจากจุลินทรีย์ที่พบได้บ่อยในอาหาร Common Microbial Toxins Found in Food
มีพิษในอาหารตัวไหนบ้างที่ได้ยินในข่าวบ่อยๆ แล้วพิษแต่ละชนิด เกิดจากจุลินทรีย์ใดบ้าง
-
ภาวะโลกเดือด ส่งผลอย่างไรกับอุตสาหกรรมอาหาร
โลกเดือดแล้ว! เมื่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลอย่างไรกับการผลิตอาหารบ้าง?
-
แหล่งที่มาของสารพิษในอาหาร Food Toxin source
อาหารไม่ปลอดภัย อาจอันตรายถึงชีวิต! ทราบหรือไม่ว่าสารพิษในอาหาร มาจากที่ใดได้บ้าง?
-
Mythbusters: ความเชื่อเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหาร จริงหรือมั่ว!? (ตอนที่ 2)
เช็คความรู้ความปลอดภัยอาหารกันหน่อย! ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับความปลอดภัยในอาหารอีกหลายข้อที่น่าสนใจมานำเสนอ ข้อไหนใช่ ข้อไหนมั่ว!?